“ปตท.สผ. โครงการเอส 1″ สร้างประสบการณ์ เชื่อมเส้นทางสายอาชีพสู่เยาวชน

นับว่าเป็นก้าวย่างสู่ปีที่ 3 ของโครงการค่ายฝึกอบรมทักษะงานช่างพื้นฐานฯ (ช่างเชื่อม) หลักสูตรระยะสั้น โดยความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. และวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ตลอดระยะเวลาการอบรมทั้ง 9 วัน เยาวชน 23 คนที่ผ่านการคัดเลือก จาก 9 โรงเรียนในเขตพื้นที่ปฏิบัติงานของโครงการเอส 1 ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การเป็นช่างเชื่อมอย่างเต็มตัว ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงขั้นตอนที่สามารถผลิตออกมาเป็นผลงาน เก็บเป็นความภาคภูมิใจของตนเองจากการฝึกอบรมในครั้งนี้

ครูนุ๊ก ทิวานนท์ โพธิ์โต ครูพิเศษ ประจำแผนกวิชาชีพช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกหัดเยาวชนในค่าย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในงานเชื่อมโลหะ เล็งเห็นว่าค่ายฝึกอบรมนี้ มีส่วนสำคัญช่วยให้เด็ก ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมต้นและต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาต่อ สามารถเห็นภาพการศึกษาในสายอาชีพได้ชัดเจนขึ้น ครูนุ๊กยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ และเชื่อเสมอว่า เด็ก ๆ ทุกคนสามารถพัฒนาทักษะ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จนพบสิ่งที่ตนเองชอบและลงมือทำจนสุดความสามารถของตน

ทางด้าน ฟิล์ม รัชชานนท์ โตอ่วม นักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 (ปวช.3) แผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ที่เคยเข้าฝึกอบรมกับโครงการฯ ตั้งแต่ปีแรก เล่าให้ฟังว่า ในปีนี้มีโอกาสมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องรุ่นที่ 3 รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดทักษะการเชื่อม พร้อมบอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนในแผนกวิชาชีพนี้ให้กับน้อง ๆ ฟังและเล่าด้วยความภาคภูมิใจอีกว่า ตนเองตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสาขานี้ เพราะได้แรงบันดาลใจจากการได้ฝึกเชื่อมในวันแรกที่มาเข้าโครงการ รู้สึกเป็นสิ่งที่ใช่ พอเข้ามาศึกษาต่อวิชาช่างเชื่อม เปลี่ยนจากคนที่ไม่ชอบเรียน เป็นคนรักในการเรียน จนปัจจุบันฟิลม์มีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม และวางแผนจะศึกษาต่อในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงต่อจนจบการศึกษา “โครงการนี้ทำให้ครอบครัวภูมิใจในตัวผมมาก ๆ ครับ”

สำหรับน้องใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2567 นี้ นนท์ ธนภูมิ หมวกสังข์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนลานกระบือวิทยาคม บอกว่ารู้สึกชอบและสนุกกับการได้ลงมือเชื่อม ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกจากในห้องเรียน “ค่ายนี้ทำให้ผมได้ลองเป็นช่างเชื่อมตัวจริงได้ฝึกเชื่อมจนสามารถสร้างเก้าอี้ขึ้นมาได้ และยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน รู้สึกสนุก และอยากให้จัดค่ายนี้ต่อไป หลังจบค่ายนี้ผมวางแผนจะยื่นเข้าศึกษาต่อแผนกวิชาชีพช่างโลหะ” นนท์เล่าด้วยความสนุกสนานกับการฝึกและชื่นชมผลงานเก้าอี้ตัวแรกที่ทำด้วยตนเอง

นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ที่สามารถต่อยอดสร้างเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่เยาวชนทุกคนได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ปตท.สผ. โครงการเอส 1 ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ยังได้มอบโอกาสทางการศึกษาในเส้นทางสายอาชีพ โดยปีที่ผ่านมา ภายหลังจากจบการฝึกอบรม มีเยาวชน 8 คน ตัดสินใจยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ซึ่งทั้ง 8 คนได้รับสิทธิ์ยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดระยะเวลา 3 ปี

ปตท.สผ. โครงการเอส 1 จะยังคงมุ่งมั่นสร้างโอกาสทางการศึกษา และเดินหน้าสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป