อุตรดิตถ์ จัดพิธีบวงสรวงสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จัดงานพระยาพิชัยดาบหักและกาชาด

วันที่ 7 มกราคม 2567 ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นางสายสมร ทองกองทุน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ วางพานพุ่มดอกไม้สด ,พิธีบวงสรวงสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก และกล่าวสดุดีเกียรติคุณพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยตลอดจนทหารกล้าทุกท่าน ผู้พลีชีพรักษาแผ่นดินไว้จนดำรงความเป็นชาติไทยถึงปัจจุบัน

โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งทหารตำรวจพลเรือนและภาคประชาชน ทุกหมู่เหล่าและคณะเครือญาติพระยาพิชัยดาบหัก ร่วมประกอบพิธีฯ จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ เป็นประธานพิธีสงฆ์ พิธีไหว้ศาลเพียงตา และพิธีพราหมณ์ ตามลำดับ เป็นการระลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญของพระยาพิชัยดาบหัก และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้การจัดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2567 สำเร็จลุล่วงตลอดการจัดงาน ระหว่างวันที่ 7 – 16 มกราคม 2567

นับเป็นระยะเวลา 43 ปี แห่งชีวิตของวีรบุรุษผู้กล้าพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งถือกำเนิด ณ บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 281 ปี ที่ผ่านมาพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งมีนามเดิมว่า “จ้อย” หรือ “ทองดี” เป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญในการออกศึกทุกรูปแบบและเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมที่ชาวอุตรดิตถ์ต้องน้อมรำลึกถึง และถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนโดยเฉพาะคุณธรรมอันโดดเด่นในเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ความวิริยะ อุตสาหะ ความขยันหมั่นเพียร และความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว จากเด็กชายจ้อย ลูกชาวนาแห่งบ้านห้วยคาเมืองพิชัย ผู้ชื่นชอบการชกมวยมาแต่เด็ก จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระยาตากสินเจ้าเมืองตาก ในขณะนั้นจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา เจ้าหมื่นไวยวรนาถ และพระยาสีหราชเดโช ตามลำดับตำแหน่งสุดท้ายได้กลับมาปกครองแผ่นดินเกิด คือ เจ้าเมืองพิชัย

ดังความบางตอนที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาสมัยกรุงธนบุรี พุทธศักราช 2310 – 2342 ความว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบปรามเจ้าพระฝางยึดได้เมืองพิษณุโลกสวางคบุรี จัดการบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วเสด็จกลับมายังเมืองพิษณุโลก กระทำการสมโภชพระมหาธาตุ พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์สามวันแล้วปูนบำเหน็จผู้กระทำความชอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งพระยาสีหราชเดโช (จ้อยหรือทองดี) เป็นพระยาพิชัย ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ ไพร่พล 9,000 คน มีอำนาจประหารชีวิตผู้มีความผิด พระราชทานเครื่องยศเสมอด้วยพระยาสุรสีห์ ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ พุทธศักราช 2313”พุทธศักราช 2315 พระยาพิชัยและทหารกล้าได้สู้รบกับทัพพม่าที่ยกมาถึงเมืองลับแล พระยาพิชัยสามารถป้องกันเมืองไว้ได้และทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป

พุทธศักราช 2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่านำทัพยกมาตีเมืองพิชัยอีกครั้ง พระยาพิชัยยกไพร่พลออกไปรบนอกกำแพงเมือง สองมือถือดาบมั่นสู้กับทัพพม่าแบบตะลุมบอล จนดาบหักไปข้างหนึ่ง ณ บริเวณทุ่งวัดเอกา อำเภอพิชัย เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2316 จนกองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไปอีกครั้งหนึ่งจึงได้รับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” แต่นั้นมาจวบจนวันนี้นับเป็นเวลา 248 ปี ตลอดระยะเวลาในการร่วมทำสงครามกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลวงพิชัยอาสาได้ร่วมตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากค่ายวัดพิชัยสงครามกรุงศรีอยุธยาจวบจนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระยาพิชัยดาบหัก เป็นทัพหน้าของทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาโดยตลอด

ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน