“อัฐมีบูชา”อุตรดิตถ์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย ถวายพระเพลิงพระบรมศพ”พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
ย้อนอดีตเมื่อครั้งพุทธกาล เพื่อรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะปรินิพพานมานาน 2568 ปี โดยจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้นตามขั้นตอนอย่างละเอียด ตั้งแต่เสด็จปรินิพพาน ซึ่งจะมีชาวบ้านที่มีฝีมือด้านงานจักสานมาช่วยกันใช้ไม้ไผ่สานองค์พระพุทธเจ้าปางปรินิพพานขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงามบรรจุไว้ในโลงแก้ว ตั้งประดิษฐานไว้บนศาลา เพื่อให้คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม และชาวบ้านทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จนถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือน 6 และเมื่อถึงวันแรม 8 ค่ำ ซึ่งเป็นวันอัฐมีบูชา หรือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้า จัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบอย่างยิ่งใหญ่ จำลองทุกขั้นตอนในพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพเสมือนครั้งพุทธกาล
จังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับวัดพระบรมธาตุ และหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดอุตรดิตถ์ กำหนดจัดงานประเพณีอัฏฐมีบูชาเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นงานประเพณีของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์วันวิสาขบูชาและวันอัฏฐมีบูชา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำเดือน 6 รวมระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ณ วัดพระบรมธาตุทตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และสืบสานประเพณีอัฐมีบูชาให้คงอยู่
รวมทั้งเป็นการส่งเสริมจิตสำนึกที่ดีของพุทธศาสนิกชนต่อพระพุทธศาสนา โดยในปี 2568 กำหนดจัดงานวันที่ 11-19 พฤษภาคม 2568 โดยวันอัฐมีบูชา(วันแรม 8 ค่ำเดือน 6) ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม 2568
.
นอกจากนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญอักษรพระนามาภิไทย ส.ธ. ประดับที่ผ้าห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และขอพระราชทานน้ำสรงพระบรมธาตุทุ่งยั้งและผ้าห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
” วันอัฏฐมีบูชา ” คือวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่งที่มิได้กล่าวถึงกันมากนัก เนื่องจากมีวันวิสาขบูชาอยู่ก่อนหน้านี้เพียงห้วงวันพระเดียว หมายถึงวันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แต่ถัดมาอีกหนึ่งวันพระ คือแรม 8 ค่ำ เป็นวันอัฏฐมีบูชา ความสำคัญของวันนี้ก็คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชนในสมัยเมื่อ 2,568 ปีล่วงมาแล้ว ต่างมีความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียพระบรมศาสดาอันเป็นที่รักเคารพยิ่งของตนนั่นเอง
ในพุทธประวัติและปรินิพพานสูตร กล่าวไว้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ที่เรียกว่าวันวิสาขบูชา พระเจ้ามัลละแห่งกรุงกุสินารา พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันกระทำพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งกรุงกุสินารา