เชียงราย MOU รร.รัฐ-เอกชน สอนวิชาชีพล่วงหน้าเก็บหน่วยกิต-เพิ่มทางเลือก-จุดขายป้อนตลาดแรงงาน

ที่ห้องประชุมโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายเกรียงศักดิ์ ยอดสาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เชียงราย ดร.ยศรากร บุญปถัมภ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย นายนรินทร์โชติ เมืองใจหล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 ดร.ประพันธ์ ทรรศนียากร ผู้จัดการโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา นางอมรรัตน์ ปินวรรณา ผู้อำนวยการโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา ผู้บริหารสหวิทยาเขตริมกก ฯลฯ

มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU การจัดการศึกษาในรูปแบบการเทียบระดับการศึกษาและคลังหน่วยกิตอาชีวศึกษา (Credit Bank) ระหว่าง 3 สถาบันการศึกษาดังกล่าวซึ่งล้วนตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองเชียงราย ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถจัดระบบการเรียนการสอนระบบใหม่ดังกล่าวได้ในภาคเรียนถัดไป

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมี MOU ระหว่างสถาบันศึกษาใน สพม.เชียงราย หรือที่อื่นๆ เช่นนี้มาก่อน จึงถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการบูรณาการระหว่าง 3 สถาบันการศึกษา วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนสายสามัญซึ่งในที่นี่คือโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 และโรงเรยนสหศาสตร์ศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายในระหว่างที่ยังเรียนสายสามัญตามปกติ ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีทางเลือกและค้นหาความถนัดของตนเองได้ตั้งแต่ต้น

โดยเฉพาะบางโรงเรียนพบว่ามีนักเรียนที่เรียนจบไปเรียนต่อในสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ถือเป็นการกล้าคิดกล้าทำของสถาบันการศึกษาในการจะใช้บุคลากรร่วมกัน ซึ่งทาง สพม.เชียงราย จะได้ติดตามความคืบหน้าต่อไป รวมทั้งยังถือเป็นตัวอย่างร่วมมือระหว่างองค์กรต่างโครงสร้างโดยในอนาคตอาจจะร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือในอดีตคือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)หรือองค์กรอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้นต่อไป

ดร.ยศรากร กล่าวว่า คณะกรรมการอาชีวศึกษามีนโยบายพัฒนาการศึกษาโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายจึงได้หารือกับโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 และโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จะจัดการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกันด้วยวิธีการจัดตั้งห้องเรียนอาชีพ จัดการเรียนการสอนระยะสั้น และจะมีการพิจารณาจัดทำหลักสูตรวิชาชีพ โดยจะมีการสอบถามนักเรียนก่อนว่ามีความต้องการศึกษาวิชาชีพด้านใด ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายซึ่งให้รองรับกว่า 12 สาขาวิชา เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ​แมคคาทรอนิกส์ ฯลฯ ที่ล้วนตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้เป็นอยางดี

ดร.ยศรากร กล่าวอีกว่านักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนสามารถนำผลการเรียนที่ได้ไปเทียบหน่วยกิตในการเข้าเรยนต่อในสายอาชีวศึกษาได้โดยไม่ต้องเรียนซ้ำอีก ซึ่งตามนโยบายของคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้ผลักดันให้มีการผลการเรียนจากต่างสถาบันการศึกษา ต่างโครงสร้าง ฯลฯ ไปเทียบเรียนต่อได้ ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเรียนในอนาคตและลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย โดยที่ใช้เวลาในการเรียนยังคงเท่าเดิมเพราะจะสอดแทรกให้นักเรียนได้เรียนในช่วงกิจกรรม หรือช่วงเวลาว่างทั้งในและนอกเวลาราชการตามความเหมาะสม วิชาชีพที่เรียนยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อีกด้วย

นางอมรรัตน์ กล่าวว่า โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษาเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสังคมสงเคราะห์โดยมีนักเรียนประมาณ 2,000 กว่าคน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 85% และนักเรียนที่จบออกไปกว่า 70% จะเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาและมีเพียง 30% ที่เลือกจะเรียนต่อในสายสามัญเหมือนเดิม ดังนั้นความร่วมมือ MOU ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีอย่างมาก เพราะจะให้เด็กได้ศึกษาวิชาชีพก่อนจะไปศึกษาจริงต่อไป

ด้านนายนรินทร์โชติ กล่าวว่า การเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคตจะต้องมีความหลากหลายเพื่อให้เด็กมีทางเลือก รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพและจุดขายให้กับแต่ละโรงเรียนอีกด้วย ตัวอย่างโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 นี้ในอดีตเคยมีนักเรียน 2,000 กว่าคนแต่ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 200 คน จึงมีความสำคัญที่โรงเรียนจะพัฒนาการศึกษาโดยหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มการเรียนสายอาชีพหรือแบบทูอินวันคือเข้าเรียนแล้วได้ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพด้วย.