พิษณุโลก เขื่อนท้ายเมืองสองแคว 1.6 พันล้าน ปี 68 ของบฯสำรวจออกแบบ ปี 69 เริ่มก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี
หากเขื่อนท้ายเมือง-โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำน่านแล้วเสร็จ จะช่วยบริหารเก็บกักน้ำ หนุนพื้นที่เกษตรกรรม 28,700 ไร่ ทั้งยังยกระดับน้ำในแม่น้ำน่านให้สูงขึ้น น้ำจะนิ่งและใส ช่วยทำประปาหล่อเลี้ยงคนทั้งเมือง
วันที่ 20 พฤษภาคม 67 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวถึงความคืบหน้าเขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก ในงานแถลงข่าวสื่อมวลชนจัดขึ้นที่โรงแรมดิอิมพีเรียลโฮเทลแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อำดภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกว่า โครงการสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน(เขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก) ตั้งอยู่บริเวณที่ดินราชพัสดุ ปัจจุบันคือศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ต.งิ้วงาม อ.เมือง จะก่อสร้างบริเวณช่องลัดของแม่น้ำน่าน มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ
โดยกำหนดเดือนสิงหาคม 2567 จะเสนอคำขอตั้งงบประมาณ และนำเข้าระบบ Thai water plan ของ สทนช. ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการลุ่มน้ำน่าน เพื่อขอตั้งงบประมาณ 1,600 ล้านบาทในปี 69 เพื่อเตรียมเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2569-2572 ระยะเวลา 4 ปี
ล่าสุดกำลังทำเรื่อง ของบประมาณปีงบ 68 จากกรมชลประทาน เป็น ค่าสำรวจ ออกแบบ เตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรม จำนวน 8 ล้านบาท คาดว่าเป็นงบ”เหลือจ่าย” ปี 2567 ของกรมชลประทาน โดยไม่ได้เกี่ยวกับงบจังหวัดหรืองบผู้ว่าฯแต่อย่างใด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การของบ”เหลือจ่าย”จากกรมชลฯ มีความเป็นไปได้สูงเนื่องจาก เมื่อครั้งที่ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ผลักดันการสร้างเขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก เพราะเขื่อนห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ 200 กม. ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งยั่งยืน สำคัญที่สุด คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ มาพิษณุโลก (15 ต.ค.66 )เพื่อตรวจโรงผลิตน้ำประปา แก้ปัญหาคนเมืองทนทุกข์กับน้ำประปาขุ่นในฤดูฝน สั่งการให้ทำทันทีปี 2567 ตามงบ 1.6 พันล้าน สร้าง 5 ปี ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน-ไม่ต้องทำ EIA หากเขื่อนท้ายเมืองสร้างเสร็จ จะทำให้น้ำนิ่งและใส ง่ายต่อการบำบัดก่อนป้อนสู่ท่อประปาหล่อเลี้ยงคนเมืองสองแคว
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า วันนี้ มาเพื่อแจ้งความคืบหน้าว่า เขื่อนท้ายเมืองกำลังเสนอไปตามขั้นตอน ปี 67 นี้ บรรจุโครงการ และปี68 ปีหน้า กำลังของบ 8 ล้านมาสำรวจออกแบบ เพื่อปี 69 จึงเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จใน 4 ปี
“เมื่อได้งบประมาณมา ทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการ (FS: Feasibility Study) โดยไม่จำเป็นต้องทำ EIA ที่ใช้เวลายาวนาน ลักษณะงานก่อสร้างเขื่อน ก่อสร้างในช่องลัดของแม่น้ำน่าน และจะปิดกั้นแม่น้ำน่านเดิม เหมือนกับเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม พิษณโลก แต่ใหญ่พอๆกับ เขื่อนผาจุก อุตรดิตถ์ โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาด 7 ช่อง กว้าง 12.5 ม. x สูง 8.0 ม. เก็บกักน้ำในแม่น้ำน่าน 38.5 ล้าน ลบ.ม. ช่วยพื้นที่การเกษตรประมาณ 28,700 ไร่” นายชำนาญ กล่าว
นายชำนาญ กล่าวด้วยว่า สร้างเขื่อนเสร็จจะช่วยยกระดับน้ำในแม่น้ำน่านให้สูงขึ้น ระดับที่สูงยังช่วยรักษาระบบนิเวศ ไม่ทำให้ตลิ่งพังไว สร้างความมั่นด้านอุปโภค บริโภค ก็คือการผลิตน้ำประปา และช่วยปศุสัตว์ ก็คือ เลี้ยงปลากระชัง อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำน่านอีกด้วย