ผู้ว่าฯ พิษณุโลก “ทอธง ทอใจ” ลงด้ายเส้นแรกประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย

วันที่ 13 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประธานแถลงข่าวการจัดงานประเพณีปักธงชัย พร้อมกับเปิดการ “ทอธง ทอใจลงด้ายเส้นแรก” เป็นการลงกระสวยด้ายเส้นแรกของการทอธง เพื่อนำไปปักที่เขาช้างล้วงในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามประเพณีปักธงชัย

อีกทั้งนางรำ 1,299 คน ที่ร่วมซ้อมเสมือนจริงเพื่อรำบวงสรวงในพิธีเปิดพร้อมซุ้มอาหารจาก 11 ตำบล ประเพณีปักธงชัยประจำปี 2566 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณพระบรมราชนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ขบวนแห่เทิดพระเกียรติฯ การเดินแบบผ้าไทยการกุศล การประกวดร้องเพลงผู้นำท้องถิ่นท้องที่ กิจกรรมTo Be Number One การประกวดส้มตำลีลา การประกวดธิดาพ่อขุนบางกลางท่าว การแสดงสีเสียง เทิดพระเกียรติ มหกรรมอาหาร สินค้า OTOP

โดยหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกแถลงข่าวและเปิดงาน ”ทอธง ทอใจลงด้ายเส้นแรก” แล้วได้ร่วมทอธงกับชาวบ้านในครั้งนี้ด้วย

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า งานประเพณีปักธงชัยประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวนครไทย เรียนรู้วีรกรรมของพ่อขุนบางกลางท่าว พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วง แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองนครไทย (เมืองบางยาง) ได้สู้รบกับเจ้าของถิ่นเดิมจนถึงเทือกเขาช้างล้วงจนประสบชัยชนะ จึงได้นำผ้าคาดเอวของท่านผูกปลายไม้ปักที่ยอดเขาช้างล้วงเพื่อแสดงถึงชัยชนะ

นายไสว เจริญศรี นายอำเภอนครไทย กล่าวว่า ประเพณีปักธงชัยจึงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวนครไทยได้จัดทำขึ้น ในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 12เป็นประจำทุกปี เพื่อให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี และเพื่อระลึกถึงพ่อขุนบางกลางท่าว ชาวนครไทยจะนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่เขาช้างล้วง

ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดตัวขนานไปกับถนนทางหลวงสายนครไทย – ชาติตระการ จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมงานประเพณีปักธงชัย ของอ.นครไทย ในระหว่างวันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 โดยเฉพาะในวันที่ 27 พ.ย.ขึ้นไปร่วมปกธงชัยบนเขาช้างล้วง

error: Content is protected !!