ปราชญ์เมืองเหนือ ชี้อักษรฐานพระพุทธรูป ขุดพบกลางน้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว สร้างโดยภิกษุผู้แต่ง “มิลินทปัญหา” เมื่อ 520 ปี

เพจ “ลายเมือง Lai-Muang” ได้แปลข้อความอักษรโบราณที่สลักไว้ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์เล็กองค์หนึ่งสูงประมาณ 4 นิ้ว ซึ่งทางการและชาวบ้าน สปป.ลาว ได้ขุดเจอในหาดดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้ามแม่น้ำโขงกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.นี้ ว่า “..เจ้าสินประ พญา หล่อแล ศักราช ได้ 866 ตัว..”

เพจ “ลายเมือง Lai-Muang” มีเนื้อหาว่าภาพพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ “ขัตติยะบารมี ขัตติยะ (ขัตติยะบารมี)” ได้เผยแพร่ในเพจช่วงที่ขุดพบเจอ เมื่อนำมาอ้างอิงกับข้อมูลจากฐานข้อมูลจากรึกประเทศไทยและประชุมจารึกเมืองพะเยา ที่มีจารึกและใบลานของล้านนา ทำให้รู้ว่า “นายสินประหญา (พ.ศ. 2038),เจ้าสินประหญา (พ.ศ. 2047) และมหาเถระสินประหญาเจ้า (พ.ศ. 2049)” เป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นผู้สร้างใบลานเรื่อง “มิลินทปัญหา” ไว้ในหอไตรเมืองท่าสร้อยเมื่่อ พ.ศ.2038 เมื่อครั้นยังเป็นฆารวาสอยู่

ต่อมาชื่อยังถูกจารึกเอาไว้ในช่วงที่ญาติของท่านได้ถูกนำมาถวายเป็นข้าวัดวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ.2049 ด้วย กระทั่งล่าสุดถูกพบในฐานพระพุทธรูปดังกล่าว เพจเดียวกันยังระบุอีกว่าประเด็นถกเถียงเรื่องความเก่าแก่ของโบราณวัตถุที่พบก็มีข้อความระบุว่า เจ้าสินประหญาได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ถวายไว้เมื่อปี พ.ศ.2047 แล้ว ทั้งนี้การให้ข้อมูลของเพจดังกล่าวถือเป็นการอ้างอิงหลักฐานที่ชัดเจนที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับองค์พระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบที่เมืองต้นผึ้ง

ด้านเพจ “เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น” ได้ขยายผลว่าตัวเลขในฐานพระพุทธรูปที่ระบุว่า 866 คือ จ.ศ.866 หรือตรงกับ พ.ศ.2047 ซึ่งตรงกับรัชสมัยที่พญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ของราชวงศ์มังราย ที่ปกครองอาณาจักรล้านนา ระหว่าง พ.ศ. 2038-2068 จึงแสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุ 520 ปี และในยุคนั้นเมืองเชียงแสนเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านนาที่มีพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง มีหลักฐานจากศิลาจาลึกว่ามีการสร้างวัดและพญาเมืองแก้วก็ยังทรงศรัทธาและทรงลาผนวชระยะหนึ่งด้วย

ขอขอบคุณแหล่งขอมูลจาก – เพจ “ลายเมือง Lai-Muang”
ข่าว – พันธมิตรเชียงราย
บก.เจี๊ยบ นักเลงพระคนโบราณ /รายงาน