“สระสองห้อง”แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชวังจันทน์ “โหยหา” จิตใต้สำนึกชาวพิษณุโลก เคียงคู่พระบรมราชานุสาวรีย์ “พระองค์ดำ”

“สระสองห้อง” ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังจันทน์ แต่อยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันตกลักษณะจะเป็นการวางตัวตามแนวทิศเหนือใต้จะมีขนาดกว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 160 เมตร และมีเกาะกลางน้ำอยู่ด้วย ทำให้พื้นที่จะมีคันดินแบ่งสระออกเป็นสองส่วน จึงเป็นที่มาของชื่อว่าสระสองห้องในอดีตมีชื่อว่า “หนองสองห้อง”

หลักฐานที่เก่าที่สุดที่พูดถึงสระสองห้อง อยู่ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จมาพิษณุโลก เมื่อพุทธศักราช 2444 ในครั้งนั้นท่านได้เสด็จมาที่พระราชวังจันทน์ และได้มาทอดพระเนตรสระสองห้องด้วย แต่ยังไม่มีการพูดถึงการนำน้ำมาใช้

และในปีเดียวกันคือปี 2444 พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสด็จมาที่พระราชวังจันทน์แล้ว มาที่สระสองห้องเช่นเดียวกันแล้วท่านโปรดให้ทำแผนที่ของวังรวมทั้งแผนที่ของหนองสองห้องไว้ด้วยเราจะเห็นว่าจากแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีการ บำรุงคลองเพื่อเชื่อมต่อสระสองห้อง เรียกว่าคลองมะดันจะไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำน่านที่อยู่ทางทิศเหนือของวัง

ความสำคัญของสระสองห้องที่คู่กับพระราชวังจันทน์มาตลอด แม้ว่าจะตั้งอยู่นอกกำแพงวัง แต่ว่าเป็นพระราชอุทยานคู่กับวังจันทน์ คนในพื้นที่รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทราบดีว่าน้ำที่สะสองห้องเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพียงแต่ว่าเราไม่ได้มีเอกสารที่บันทึกว่าในสมัยอยุธยาในการนำน้ำจากสระสองห้องไปใช้แต่ว่าคู่กันมากับประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทน์และเมืองพิษณุโลก

ด้วยความสำคัญของสระสองห้อง ในโอกาสที่สระสองห้อง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพิษณุโลก และของประเทศไทยด้วย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลก ที่น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิษณุโลก นำเข้าสู่พิธีที่มีความสำคัญมาตามลำดับ

สระสองห้อง ตามหลักฐานที่ปรากฏได้เคยใช้ไปใช้พระราชพิธี ในรัชสมัย รัชกาลที่ 6 -7 – 9 และ 10 ประกอบพิธีตามโบราณราชประเพณี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร นำน้ำจากสระสองห้องไปใช้จำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร วันที่ 5 พฤษภาคม 2493, ครั้งที่ 2 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 4 ธันวาคม 2530 พิธีพลีกรรมตักน้ำสระสองห้อง พระราชวังจันทน์ ในวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2530, ครั้งที่ 3 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 4 ธันวาคม 2542 พิธีพลีกรรมตักน้ำสระสองห้อง พระราชวังจันทน์ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2542 และ ครั้งที่ 4 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พิธีพลีกรรมตักน้ำสระสองห้อง พระราชวังจันทน์ ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2550

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 จังหวัดพิษณุโลก ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สระสองห้อง เพื่อทำน้ำอภิเษกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรบดินทรเทพยวรางกูร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ข้าราชการ และพสกนิกรชาวพิษณุโลก กว่า 15,000 คน เข้าร่วมพิธี จากนั้นได้จัดขบวนอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกตามโบราณราชประเพณีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก ระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยกำหนดมีพิธีในวันที่ 8 -9 เมษายน 2562

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกจะนำน้ำอภิเษกไปประกอบพิธีปลุกเสกน้ำรวมที่วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 18-19 เมษายน 2562 เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระราชวังจันทน์ มีความสำคัญคือเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้วอุปราชหลายพระองค์ หากกล่าวถึงพระราชวังจันทน์ ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวพระราชวังจันทน์ แต่หมายถึงสระสองห้องด้วยเสมอ ดังนั้นพระราชวังจันทน์ และสระสองห้องเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เพราะน้ำจากสระสองห้อง เคยนำมาใช้ภายในวังหล่อเลี้ยงผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์เป็นเวลานับร้อยปี การนำน้ำจากแหล่งน้ำไปเข้าพิธีบรมราชาภิเษก เป็นอีกหนึ่งหน้าในประวัติศาสตร์ของชาวพิษณุโลกรวมทั้งชาวไทย

ใครมาเที่ยวชมมาเรียนรู้มาศึกษาพระราชวังจันทน์ ถ้าไม่ไปดูสระสองห้อง แสดงว่ายังมาไม่ครบ เพราะฉะนั้นมาดูวังแล้วต้องเดินออกไปดูสระสองห้องด้วยแล้ว วัดอีก 3 วัด ในเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ คือสิ่งที่อยู่กับประชาชนชาวเมืองพิษณุโลก และประชาชนชาวไทย

แต่ทว่า ภายหลังพิธีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ผ่านไป ปัจจุบันมีผู้มาซื้อที่ดินนำมาปลูกสร้างร้านกาแฟและโรงนวดในครั้งแรกอย่างอลังการ ติดขอบสระสองห้อง คล้ายรูปตัวแอล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความไม่เหมาะ และไม่สมพระเกียรติ เห็นควรที่หลายฝ่ายควรหาเงินงบประมาณมาชดเชยเวนคืนที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป

จึงเป็นการปลุกเร้าให้ชาวพิษณุโลก ระลึกถึงคุณค่าแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ “พระราชวังจันทน์” อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นักรบผู้เกรียงไกรในปฐพี

กร บ้านกร่าง รายงาน