เชียงราย สำรวจแหล่งอาศัยปลากระเบนแม่น้ำโขง หลังแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง
วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการลดลงของปลากระเบนในแม่น้ำโขง และติดตามการเปลี่ยนแปลง ปริมาณของปลากระเบนที่ลดลง
โดยที่บ้านดอนที่เป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงจับได้บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ว่าเหตุใดจึงพบได้เพียงเฉพาะที่บ้านดอนที่เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาปลาสายพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ด้วย
อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง พบว่า จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” โดยมีพื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลน ทราย ปนกัน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน มีหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณหลงแก่ง ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ที่เป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้มีการจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน
“อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว
นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง กล่าวว่าเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดกว่า 1.2 กิโลกรัมได้ในแม่น้ำโขง ในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนนั้นถือว่าเป็นปลาที่หากพบได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากระบบนิเวศ ในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป การเพิ่มและลดบริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปลาบางชนิดได้น้อยลง ในฐานะผู้นำหมู่บ้านดอนที่ ก็ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่เข้ามาช่วยทำวิจัย เพื่อเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง โดยใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านดอนที่ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนและพันธุ์ปลาน้ำจืดแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป
ด้านนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมง ในพื้นที่บ้านดอนที่ เล่าว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงในปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาส่วนใหญ่ก็จะผันตัวไปทำไร่ทำสวน ในส่วนของที่ทางสมาคม แม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน และจะใช้พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง ตนเองในฐานะชาวประมงในพื้นที่ก็เห็นด้วย ถ้าสามารถจับปลากระเบนในพื้นที่ได้อีก ก็จะส่งให้ทางประมงเพื่อไปทำการวิจัยและเพาะพันธ์ขยายพันธุ์ และนำกลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณจำนวนปลากระเบนในแม่น้ำโขง และให้บ้านดอนที่ เป็นศูนย์เรียนรู้ และเขตอนุรักษ์ เรื่องปลากระเบนแม่น้ำโขงต่อไป
สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบภัยคุกคามคือ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่คก วัง และริมฝั่งซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การก่อสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ บนแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เช่น โขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งหากินของปลากระเบน มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง มลพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปลากระเบน โดยเฉพาะลูกปลาและปลาอ่อน การล่าปลากระเบนถูกจับโดยชาวประมงเพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน
ผลกระทบจากภัยคุกคามทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม