ร.อ.ธรรมนัส “รมว.เกษตรฯ เปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นางวิยดะ นราดิศร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยา นายอำเภอดอกคำใต้ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตร และพี่น้องชาวพะเยา ให้การต้อนรับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเป็นประธานเปิด “งานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2567 ณ แปลงนาสาธิต บ้านบวกบะหนิ้ว หมู่ที่ 3 ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามผลักดันภาคการเกษตร โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มีมากขึ้น และมีคุณภาพ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวดำเนินการ ล้วนเป็นการพัฒนาภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สามารถสู้กับข้าวจากต่างประเทศได้ สำหรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ภาคการผลิตที่จะนำไปสู่โครงการใช้ปุ๋ยแม่นยำ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มคุณภาพข้าว ซึ่งไม่ใช่โครงการเดียวกันกับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเกษตรกรในช่วงที่ข้าวราคาตกต่ำ
หากโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ทันในฤดูการผลิตนี้ ก็จะถือเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินการในปีถัดไป และจะพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ เร่งพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพข้าว ทั้งในเรื่องของกลิ่นและรสชาติ เพื่อทวงความเป็นแชมป์ของไทยกลับคืนมา นอกจากนี้ ยังสนับสนุนข้าวพันธุ์ GI ในการสร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีข้าว GI ถึงกว่า 30 สายพันธุ์ ที่เหมาะสมในการปลูกในแต่ละพื้นถิ่น จึงขอยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยหยุดนิ่ง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรม เสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และมุ่งหวังในการสร้างความมั่นคงให้กับภาคการเกษตรให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
สำหรับจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 39 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่
การเกษตรประมาณ 1.5 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37 ของพื้นที่ทั้งหมดการพัฒนาด้านการเกษตรที่ผ่านมา มุ่งเน้นทำการเกษตรปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูปและการตลาด โดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพ สินค้าเกษตร เน้นผลิตสินค้ามูลค่าสูงเพื่อให้เกษตรกร มีรายได้ที่มั่นคง มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน สำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว มีพื้นที่เพาะปลูก 626,989 ไร่ รองลงมา คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่เพาะปลูก 152,633 ไร่ ลิ้นจี่มีพื้นที่ปลูก จำนวน 11,289 ไร่ และลำไย มีพื้นที่ปลูกจำนวน 94,311 ไร่ อีกทั้งจังหวัดยังมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (G) ได้แก่ ลิ้นจี่ ที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอแม่ใจและข้าวหอมมะลิพะเยา ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15