พิษณุโลก ขนส่งตรวจพบ “รถตู้ผี-วินเถื่อน” ใช้รถส่วนบุคคลจอดรับส่งศูนย์ บขส.แห่งที่ 1 หวั่นอุบัติเหตุไม่มีประกันภัย
วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นายสุรชัย ทับยา ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก สั่งการให้นายสราวุธ ปานธิ หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง นายเสริมพันธ์ สมรรคจันทร์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ พร้อมคณะลงตรวจความเรียบร้อยที่ศูนย์ขนส่งแห่งที่ 1 ในเมืองพิษณุโลก โดยเฉพาะตรวจสอบปริมาณรถโดยสารและรถตู้ขออนุญาตถูกต้องว่า มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้จริง และปัญหา”วินรถตู้เถื่อน” และสอดส่องดูมีผู้มีอิทธิพลคุมผู้ประกอบการรถตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หลังมีเบาะแสที่รับแจ้งจากประชาชนว่ามีรถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสารพิษณุโลกไปกรุงเทพไม่ถูกต้อง
จุดแรกเจ้าหน้าที่ขนส่งไปตรวจ เป็นตึกแถวรอบๆ อาคารศูนย์ขนส่งแห่งที่ 1 พบป้ายไวนิว ช.ทัวร์(ขอสงวนนาม) เขียนระบุ กทม. หมอชิต นครสวรรค์ ชัยนาท อยุธยา ฟิวเจอร์ หลักสี่ ดอนเมือง รังสิต โดยได้ตรวจสอบตารางเวลารถตู้วิ่งและผู้โดยสารนั่งคอย พร้อมตรวจสอบรถตู้ที่จอดอยู่ที่หน้าอาคาร ตรวจพบภายในรถตู้ว่า มีอุปกรณ์ทุบกระจก และถังดับเพลิง แต่เป็นรถตู้สีขาวป้ายทะเบียนสีขาว คือ รถป้ายทะเบียนส่วนบุคคล ไม่ใช่สีเหลือง ซึ่งเป็นป้ายรถตู้สาธารณะ จึงได้แจ้งโชเฟอร์ว่า เป็นรถผิดกฎหมาย แม้มีประกันภัยก็ตาม จึงเชิญผู้ประกอบการให้เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินการพิจารณาความผิดต่อไป
ส่วนจุดที่ 2 ตึกแถวรอบๆอาคารศูนย์ขนส่งแห่งที่ 1 ฝั่งตะวันตก พบป้ายไวนิวเขียนระบุ นครสวรรค์ กทม ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ฟิวเจอร์รังสิต นวนคร หลักสี่ ดอนเมือง หมอชิต และเจ้าหน้าที่ขนส่งเดินทางไปตึกข้างเคียงซึ่งเป็นอาคารรอผู้โดยสาร พบป้ายระบุ “ธ”(ขอสงวนนาม) โดยมีรถตู้ป้ายเหลืองและรถตู้ป้ายขาว แต่ไม่พบอุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์ทุบกระจก จึงเชิญผู้ประกอบการรถตู้ให้เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและพิจารณาความผิดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่นิยมขึ้นรถตู้เดินทางไปกรุงเทพและต่างจังหวัด ลักษณะเต็มออก สะดวกสบาย ส่วนราคาไม่แตกต่างกันมากนัก ระหว่างรถตู้ 320 กับรถทัวร์ประจำทาง 300 บาท แต่การนั่งรถตู้เถื่อนหรือรถป้ายขาว ซึ่งเป็นรถส่วนบุคคลถือว่า ผิดกฎหมาย
นายสุรชัย ทับยา ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า รถตู้จดทะเบียนถูกกฎหมาย (ป้ายเหลือง) หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด ผู้โดยสารสามารถร้องเรียน เพื่อให้รถตู้สาธารณะได้ เพราะเป็นรถที่จดทะเบียนกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อช่วยจ่ายค่าชดเชยและมีประกันภัย ส่วนรถตู้เถื่อน หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้ที่รับผิดชอบคือ คนขับและเจ้าของรถ เลวร้ายกว่านั้น คือ ไม่สามารถโยงไปถึงเจ้าของวิน ทำให้ บขส. เสี่ยงที่จะไม่จ่ายเงินชดเชยหรือไม่จ่ายก็ได้