ผู้ว่าฯ เชียงราย จัดชุดเคลื่อนเร็วจับมือเผา ด้าน อ.เทิง สนธิกำลังดับไฟขุนห้วยไคร้หวั่นลุกลาม

วันที่ 14 มี.ค.67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจ.เชียงราย และประธานแม่บ้านมหาดไทยจ.เชียงราย พร้อมด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า PM 2.5 และมอบหน้ากากอนามัย มุ้งปลอดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดื่มชูกำลัง ให้นำไปใช้ในพื้นที่อำเภอชายแดน 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่า ประกอบไปด้วย อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายตั้งแต่ในช่วงมีที่ประกาศห้ามเผา ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้พบจุดความร้อน 269 จุด ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในจังหวัดภาคเหนือตอนบน แต่ทางกลับกันสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) รายงานว่ามีค่าฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 เกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 มี.ค.ครอบคลุมทุกจังหวัดโดย จ.เชียงราย เกินมาตรฐานแล้ว 43 วัน

“ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นช่วงที่เกิดฝุ่นละออง และฝุ่นควันหรือ PM 2.5 สูงสุด จึงจะมีการยกระดับมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในจ.เชียงราย โดยจะใช้กลไกของพื้นที่ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จะมีการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วในระดับอำเภอทุกอำเภอ และในระดับตำบลที่มีพื้นที่เสี่ยงชุดละ 10 คน บูรณาการการทำงานลาดตระเวน และตรึงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชุดเหยี่ยวไฟ ของกรมอุทยาน ชุดเสือไฟของกรมป่าไม้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสมือเผา โดยมีรางวัลในการแจ้งเบาะแส และนำจับ 5,000 บาท”ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าว

ในส่วนของความพร้อมในรับมือปัญหา PM 2.5 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชีงรายได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จัดทำห้องปลอดฝุ่น พร้อมเครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งให้ครบทุกแห่ง และได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกเดินเคาะประตูบ้านให้คำแนะนำกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยติดเตียง อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีหมอกควันข้ามแดน ทางจ.เชียงรายได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน เพื่อเป็นการป้องกันการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือให้คำแนะนำประชาชนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และขยะมูลฝอยในครัวเรือนโดยวิธีที่เหมาะสมตามหลักวิชาการโดยหลีกเลี่ยงการเผา รวมถึงความร่วมมือกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเต็มที่

โดย ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจและมอบน้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องดื่มชูกำลังให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกันดับไฟป่าในพื้นที่ตำบลบ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จากนั้นได้เดินไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ ไปตรวจเยี่ยมดูความพร้อมของห้องเรียนปลอดฝุ่น และร่วมกับสโมสรโรตารีเชียงของมอบเครื่องฟอกอากาศจำนวน 10 เครื่องให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ อ.เชียงของอีกด้วย

ทางด้าน อ.เทิง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เกิดจุดความร้อน Hotspot จำนวน 2 จุด เวลาประมาณ 01.56 น. และเวลา 13.06 น. บริเวณป่าอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติภูซาง จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณเกิดไฟไหม้ดังกล่าวอยู่บริเวณพื้นที่บ้านขุนห้วยไคร้ ม.14 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งทั้งสองจุดอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง จ.เชียงราย จึงได้มอบหมายให้นายกฤตชัย สุวรรณ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยสมาชิก อส. ได้เข้าทำการดับไฟบริเวณดังกล่าว แต่ด้วยในช่วงเวลากลางวันเกิดไฟไหม้เป็นบริเวณกว้างสภาพอากาศและมีกระแสลมแรงทำให้ยากต่อการควบคุมไฟ จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหาร กองร้อยทหารพรานที่ 3105 ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.14 ต.ตับเต่า เพื่อช่วยดำเนินการดับไฟแต่ยังไม่สามารถควบคุมไฟได้

จนกระทั่งเวลา 16.00 น. นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายาอำเภอเทิง ได้นำกำลังสมาชิก อส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เข้าในพื้นที่บ้านขุนห้วยไคร้ เพื่อช่วยดับไฟพร้อมทั้งนำอาหาร, เครื่องดื่ม ช่วยสนับสนุนชุดดับไฟป่า และได้สั่งการให้ทำแนวกันไฟบริเวณโดยรอบ เนื่องจากเวลานั้นไฟได้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ยากต่อการดับไฟ จนสามารถควบคุมไฟได้ในเวลาประมาณ 21.00 น. ส่วนความเสียหายและสาเหตุการเกิดไฟไหม้ ได้มอบหมายให้อุทยานแห่งชาติภูซาง ตรวจสอบซึ่งคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกลุ่มผู้เลี้ยงวัว เนื่องจากระหว่างทางขึ้นดับไฟตรวจพบมูลวัวและร่องรอยการเลี้ยงวัว โดยนายอำเภอเทิงได้กำชับให้ผู้ใหญ่บ้าน จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังในพื้นที่ กรณีพบกลุ่มควันไฟให้เข้าพื้นที่ดับไฟโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดไฟลุกลามเป็นบริเวณกว้างได้