วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ชุมชนบ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่าง 7 ชุมชน ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP ภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดเชียงราย ได้จัดงานสืบชะตาป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง เนื่องในโอกาสวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก World wetlands day ณ ป่าส้มแสงบ้านป่าข่า หมู่ 8 ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จับหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมงานจากเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำอิง และหน่วยงานภาครัฐกว่า 300 คน ภายในงานมีพิธีกรรมการสืบชะตาป่า นิทรรศการป่าชุ่มน้ำ เวทีเสวนาป่าชุ่มน้ำและการแสดงวัฒนธรรมชุมชนตลอดทั้งวัน
นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านป่าข่า ได้กล่าวถึงป่าชุ่มน้ำว่า ในวันนี้ที่เกิดขึ้นมาเพราะความร่วมมือร่วมใจของชุมชน การจัดงานเพื่อจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไว้กับชุมชนของเรา เป็นที่ภาคภูมิใจที่เรามีป่าที่อนุรักษ์เป็นที่ภาคภูมิใจที่เรามีป่าชุ่มน้ำในระดับประเทศ เป็นหนึ่งเดียวในอำเภอขุนตาล ยินดีต้อนรับทุกหน่วยงานที่ได้เจ้าร่วมกันอนุรักษ์ป่าผืนนี้ ป่าชุ่มน้ำของเรามีพื้นที่ 85 ไร่ ป่าชุมชนของเราที่ได้จัดกิจกรรมการอนุรักษ์มาเป็นเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เป็นป่าส้มแสงผืน
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP ภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดเชียงราย จึงได้ให้ความสำคัญป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเภท พาลูสตรีน เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ หรือ หนองน้ำ พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลาหรือบางฤดู ช่วงน้ำท่วมมีความลึก 2-4 เมตร และมีพืชน้ำปกคลุมมากกว่าร้อยละ 30 ของผิวน้ำ มีความสำคัญและเป็นอัตลักษณ์พิเศษหนึ่งเดียวของประเทศไทย คือ เป็นป่าส้มแสงผืนใหญ่ขนาด 85 ไร่ และพื้นที่ 7 ชุมชนได้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มนำในรับดับนานาชาติ ป่าชุ่มน้ำมีต้นไม้ที่โดดเด่น คือ ต้นส้มแสง ต้นข่อย ต้นหัด เป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมขังอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะ พบเห็นได้ยาก ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำมีชนิดพันธุ์พืชอย่างน้อย 300 ชนิด พื้นที่มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 178 ชนิด
ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 134 ชนิด พบว่ามีสัตว์ที่มีสถานภาพความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ และเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ เช่น ลิ่นชวา งูจงอาง นากใหญ่ธรรมดา และเต่าปูลู เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นและนกอพยพ กว่า 181 ชนิด แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง 282 ชนิด และเป็นแหล่งสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของชาวบ้าน 11 เทศบาล 4 อำเภอในลุ่มน้ำอิงของจังหวัดเชียงราย
นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่แค่การจัดงานที่ตำบลป่าตาลแห่งเดียว วันนี้ทั่วโลกมีความสำคัญเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องระบบนิเวศน์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ก้าวข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อม และกำลังประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเทศที่พัฒนาเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงรายของเรามีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ 6 แห่ง ตรงนี้เป็น 1 ใน 6 แห่ง พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมี 131 แห่ง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับประเทศ ระดับนานาชาติ และระหว่างประเทศหรือแรมซ่าไซด์ เชียงรายมี 6 แห่ง มากที่สุดในประเทศไทย ที่บ้านป่าข่านี่กำลังถูกยกระดับขึ้นในอนาคตอันใกล้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ป่าผืนนี้มีความสำคัญระดับประเทศ มีอัตลักษณ์หนึ่งเดียว เราต้องช่วยกันผลักดันการขึ้นทะเบียนแรมซ่าไซด์ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีข่าวดีในระยะใกล้ๆนี้
ดร.วีระชัย ศรีดาพรมมา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ 4 เชียงรายกล่าวว่า ป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงและป่าผืนนี้ทางสำนักงานกำลังดำเนินการอยู่ในระหว่างการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชุ่มน้ำมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมาทางชุมชนมีการจัดการมากกว่า 100 ปี มีความสำคัญคือในช่วงฤดูน้ำหลาก 4 เดือน น้ำท่วมแล้วค่อยๆ ลด มีพืชพันธุ์ที่ขึ้นคือต้นส้มแสง เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่มานานคู่กับหมู่บ้านที่ชุมชนอนุรักษ์รวมถึงมีสัตว์สำคัญ เช่นนาก เต่าปูลู เป็นป่าส้มแสงที่มีขนาดใหญ่มากถึง 84 ไร่ เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนไว้ที่ต้นไม้ เป็นพื้นที่สีเขียวสำคัญ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง 7 แปลง กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ “แรมซาร์ไซต์” เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันในอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้ชุมชนในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำอิงและระบบนิเวศโดยรอบไว้
นายสุวิทย์ การะหัน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ได้เป็นตัวแทนในการประกาศ “พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่าง อัตลักษณ์พิเศษหนึ่งเดียวของประเทศไทย” ประกาศเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี 2567 โดยตัวแทนป่าชุ่มน้ำ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า “ให้พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ อัตลักษณ์พิเศษหนึ่งเดียวของประเทศไทย ตามฉันทามติของชาวบ้านผู้ได้ใช้ประโยชน์และร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าริมน้ำมาอย่างยาวนาน และขอประกาศย้ำถึงเจตนารมณ์อันเป็นหนึ่งเดียวกันว่าเราประชาชนในลุ่มน้ำอิง ขอยืนยันและจะร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่างสู่แรมซ่าร์ไซด์ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชีวิต พื้นที่แห่งความหลากหลายและความยั่งยืน 2 กุมภาพันธ์ 2567 ประกาศ ณ พื้นที่ชุ่มน้ำบ้านป่าข่า จังหวัดเชียงราย”