พีดีเอ และ ซีแอนด์ซี เฮลธ์นอร์ท อะคาเดมี่ จับมือภาครัฐ-เอกชน 7 องค์กร สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดยั่งยืน
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุม โรงแรมซีแอนด์ซี ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นายวิลาศ เตโช ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน พร้อมด้วย รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายยุทธการ ตั้งปัญญาศักดิ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมสหพันธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย นางสาวไอร์ฬดา กฤตยา รักษาการแทนนายกสมาคมอัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา นางสาวพิไลวรรณ พิมพ์ภูลาด ผู้ก่อตั้งสถาบันนานาชาติพีลี นางศรีบังอร ตุงคศิริวัฒน์ นายกสมาคมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวชาติพันธุ์จังหวัดเชียงราย และ นางดวงสมร ไชยรัตน์ รักษาการแทนนายกสมาคมส่งเสริมบริการสุขภาพเชียงใหม่ ร่วมกันลงนามความร่วมมือ “สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดสู่สากลอย่างยั่งยืน” โดยมีสักขีพยานเข้าร่วมจำนวนมาก
โดยนายวิลาศ เตโช ผู้อำนวยการสมาคม กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าว ของการร่วมมือกัน ในการขับเคลื่อน โครงการเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA จะขอเป็นศูนย์กลางประสานงาน กับองค์กรภาคีเครือข่าย ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้การฝึกอบรม เพิ่มทักษะ (Skills) การพัฒนาต่อยอด เพิ่มศักยภาพฝีมือ สร้างอาชีพ ด้านอาหารไทย นวดไทย การถักทอผ้าการออกแบบและการตัดเย็บผ้าพื้นเมือง รูปแบบฝึกเตรียมพร้อมเข้าทำงาน ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานของไทยและ ต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด Hard Skills เพิ่มทักษะหรือความสามารถที่ใช้ในการทำงาน ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม Soft Skills เพิ่มทักษะ หรือความสามารถของบุคลากร ด้านความคิดสร้างสรรค์การเป็นผู้นำ การบริหารเวลามนุษย์สัมพันธ์ การปรับตัว การควบคุมอารมณ์เป็นต้น และเป็น Soft Power การขับเคลื่อน โครงการเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)
“สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA เป็นองค์กรเอกช สาธารณประโยชน์จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2517 เพื่อดำเนินงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตชนบทและเขตเมือง ผ่านการดำเนินงานโครงการต่างๆ มามากกว่า 300 โครงการอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตชนบทและเขตเมือง พร้อมได้จัดตั้ง C&C HEALTH NORT เป็นศูนย์กลางประสานงาน กับองค์กรภาคีเครือข่าย ต่างๆ และยังครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติการบริหารจัดการ, มิติสังคม-เศรษฐกิจ, มิติวัฒนธรรม และมิติสิ่งแวดล้อม สะท้อนจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามเป้าหมาย Sustainable Tourism Goals สร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่สามารถรองรับ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างมั่นคงและสมดุลในทุกมิติและสนอง นโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของประเทศไทย การขับเคลื่อนสุขภาพให้เกิด “For All Well-Being”
โดยคำนึงถึงขอบเขตปัจจัยด้านบุคคล สังคม เศรษฐกิจ ประชากร กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งออกผลิตภัณฑ์สปำ สมุนไพรไทยและบริการสุขภาพไปยังตลาดโลก โดยพีดีเอ และสมาพันธ์โลกเวลเนสและนวดไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิดกว่า 50 ประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการเชื่อมโยงด้านการส่งเสริม การจัดกิจกรรม การตลาดและประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ในระดับสากลทั่วโลก” นายวิลาศ กล่าว.