MOU ผลักดันตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์ และสาธารณสุขชายแดน พื้นที่อำเภอแม่สอด รองรับปัญหาและแผนสุขภาพประชากรข้ามชาติ

วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นายแพทย์พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และผศ. (พิเศษ) นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ร่วมเปิดงานการประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี

โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ระหว่างศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนฝจาก 6 สถาบันการศึกษา เพื่อนำมาสู่การจัดทำหลักสูตรเฉพาะของพื้นที่ เช่น ระบาดวิทยาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ระบบสาธารณสุขชายแดน การดูแลรักษาโรคเวชศาสตร์เขตร้อน อนามัยแม่และเด็กชายแดน การจัดการสิทธิและสถานะของประชากรในพื้นที่ชายแดน เป็นต้น

ซึ่งปัญหาหลักของการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าว คือ การเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารยืนยัน ส่งผลทำให้ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยเฉพาะในอำเภอแม่สอด เป็นพื้นที่ชายแดนที่อยู่ติดกับประเทศพม่า มีประชากรชาวเมียนมา อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดจำนววนมาก การจัดประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดบริการสุขภาพ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรเอกชน ตลอดจนผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ที่ประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนเเละประสานกลางการขับเคลื่อนแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานต่างด้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ต่อหัวของประชากรไทย หรือจีดีพี คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2% ส่วนระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมี 2 ระบบคือ ระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบที่มีการให้บริการแตกต่างกัน นอกจากนี้ภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่ พบผู้ป่วยนอกคิดเป็น 15% ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลคิดเป็น 27% ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท

สำหรับหลายประเทศมีการให้บริการบางอย่างฟรีกับคนทุกคน เช่น การให้วัคซีน เนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่ได้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนและคนรอบข้างด้วย หรืออย่างวัณโรค วิธีจัดการโรคคือการหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อ ฉะนั้นการให้บริการสุขภาพพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งนี้การดูแลสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและนานาชาติมีความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นคือการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) โดยมี สวรส. ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันให้เรื่องสุขภาพประชากรข้ามชาติเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการระดม งบประมาณจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิความเป็นธรรมด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติโดยการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส. จะเน้นไปที่การทำงานเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมของประชากรข้ามชาติ โดยจะผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติต่อไป

ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุมฯ กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสุขภาพของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรวมถึงสุขภาพของประชากรข้ามชาติโดยงานด้านสาธารณสุขชายแดน เป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากพื้นที่ชายแดนถือเป็นด่านหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ชายแดนยังมีบริบทของงานสาธารณสุขที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ ทั้งด้านสภาพภูมิศาสตร์สังคม และวัฒนธรรม จึงทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในด้านความหลากหลายทางประชากร การจัดสรรทรัพยากรและการเข้าถึงบริการ การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการวางระบบสุขภาพข้ามพรมแดน ดังนั้น ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน มูลนิธิและองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการด้านสาธารณสุขชายแดนเป็นอย่างยิ่ง การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน และบทเรียนการจัดการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ รวมไปถึงการเสริมพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชายแดน ตลอดจนการพัฒนาข้อเสนอในการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน ให้พร้อมรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขชายแดน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด และผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน และพื้นที่พิเศษ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในประเทศ รวมถึงพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่พิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้ และมีทักษะที่จำเป็น สำหรับการปฏิบัติงานสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้และพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพและองค์ความรู้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งจากความร่วมมือภายใต้แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้นำมาสู่การดำเนินงานสำคัญของศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก อาทิการจัดทำหลักสูตรเฉพาะของพื้นที่ เช่น ระบาดวิทยาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ระบบสาธารณสุขชายแดน การดูแลรักษาโรคเวชศาสตร์เขตร้อน อนามัยแม่และเด็กชายแดน การจัดการสิทธิและสถานะของประชากรในพื้นที่ชายแดน เป็นต้น รวมทั้งการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกันในพื้นที่ขยายกว้างออกไป โดยจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา และสภากาชาดไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติ

ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้อพยพระหว่างประเทศ: ระดับโลก ประเทศไทย และพื้นที่ชายแดน และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เงื่อนไขและปัญหาอุปสรรคที่ยังท้าทายทางรอด ทางออก กับการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์การจัดการปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพื้นที่ชายแดน (เมียนมา ลาว และไทย) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติพร้อมมีการเปิดให้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก

error: Content is protected !!