ผู้ว่าฯ เชียงราย ต้อนรับคณะเอกอัครราชทูตหญิง ประจำประเทศไทย
วันที่ 29 พ.ย. 66 ที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย คณะเอกอัครราชทูตหญิงประจำประเทศไทย นำโดยนางมิลลิเซนต์ ครูซ ปาเรเดส เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นางอันนา มาเรีย ปรีเอโต้ อาบัด เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโคลอมเบีย นางอิตเซล คารีน่า เชิน ชาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐปานามา นางซีบิล เดอะ คาร์เดียร์ ยีเวส เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม นางเซรัป เออร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี และนางเชอร์ลี่ย์ เดนนิส อากีล่าร์ บาเรร่า เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกัวเตมาลา และคณะ
โดยเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะเอกอัครราชทูตหญิงฯ มีกำหนดการเดินทางตามโครงการนำคณะเอกอัครราชทูตหญิงประจำประเทศไทย เดินทางเยือนจังหวัดเชียงราย และได้ถือโอกาสนี้เข้าพบและหารือกับจังหวัดเชียงรายในด้านสวัสดิการ การย้ายถิ่นฐาน และการจ้างงานของชาวต่างชาติในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้นำเสนอข้อมูลการแผนงานการพัฒนาเชียงรายให้เป็นเมืองสุขภาวะ (Wellness City) ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ
โดยในด้านการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรม การพัฒนาเมืองเชียงรายสู่เมืองแห่งศิลปะโดยจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองชายแดนที่เชื่อมต่อพรมแดนของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เมียนมา มีความหลากหลายของผู้คนมากถึง 30 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน
นอกจากนี้มีศิลปินเชียงราย ที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยมีกำหนดเปิดงานในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 โดยท่านนายกรัฐมนตรี จะได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงานฯ รวมถึง UNESCO ได้ประกาศรับรองจังหวัดเชียงรายเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งการออกแบบ City of Design และการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง พื้นที่ทรงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จย่า เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ เป็นต้น และยังมีประเด็นที่เอกอัครราชทูตฯ ให้ความสนใจและหยิบยกขึ้นมาหารือไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่จังหวัดเชียงรายได้รับคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบจาก UNESCO การย้ายถิ่นฐานของแรงงานชาวต่างด้าว
ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีชาวต่างด้าวที่อาศัยอยู่ โดยเป็นชาวฟิลิปปินส์ จำนวนกว่า 300 คน ชาวเบลเยียม 40 คน ชาวตุรกี 10 คน ชาวสวีเดน 3 คน ชาวโคลอมเบีย 2 คน ชาวกัวเตมาลา 1 คน โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ผู้สอนภาษา ใช้ชีวิตปั้นปลาย และมีครอบครัวชาวไทย รวมถึงประเด็นด้านการส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่มีแรงงานตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านติดกับไทย โดยถูกหลอกให้ไปทำงานเป็น scammer แก๊ง Call center โดยการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองไปทำงานที่มีค่าตอบแทนสูง เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานและการอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถูกหลอกให้ไปทำงานผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรงงานจังหวัด หน่วยงานปกครองและตำรวจ มีขั้นตอนการคัดกรอง ช่วยเหลือ เยียวยา และส่งกลับ เป็นต้น ทั้งนี้คณะเอกอัครราชทูตได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยที่ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้เป็นอย่างดี ในฐานะของผู้แทนรัฐบาลของประเทศมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกับประเทศไทยและจังหวัดเชียงรายต่อไป