พิษณุโลก ฟื้นบ่อขยะฝังกลบ ชาวบ้าน 3 ตำบล รับฟังการคอนโทรนดัมพ์ให้ถูกหลักวิชาการ
วันที่ 24 พ.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนกว่า 300 คนรอบบ่อขยะ ร่วม“รับฟังความคิดเห็น ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับ การเปิดสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบขยะตามหลักสุขาภิบาลแห่งใหม่ (sanitary landfill ) ที่อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก (เมื่อ 22 พ.ย.65) โดยนายธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เป็นผู้กล่าวเปิดการรับฟังความคิดเห็น
ทั้งนี้ อบต.ท่าโพธิ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดเวที โดยให้ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีดีรุ่งเรืองพัฒนา นำเสนอบ่อขยะที่ถูกกฏหมายแห่งใหม่ ซึ่งเดิมเป็นบ่อขยะของกำนันเชิดเคยถูกสั่งปิดไปและกำลังจะขอเปิดเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอีกครั้ง โดยเชิญประชาชนใน 22 ครัวเรือน หมู่ 4 ท่าโพธิ์ อ.เมือง , 51 ครัวเรือน ในหมู่ 7 ท่าทอง อ.เมืองและ 56 ครอบครัว หมู่ 4 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ และประชาชนที่ทำนารอบๆบ่อขยะจำนวน 94 ราย 33 ครัวเรือน
ซึ่งเป็นพื้นที่รถขยะวิ่งผ่านร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น อภิปราย/แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นท่ามกลางหน่วยงานรัฐร่วมงาน อาทิ ท้องถิ่นอำเภอเมือง, ผู้แทนมหาวิทยาลัย, ตำรวจภูธรจังหวัด, ผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อม, ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษที่ 3, ทสจ.พล.,ศูนย์อนามัยที่ 2, สำนักงานสาธารณสุขฯลฯ ร่วมเสวนาและถกปัญหาที่อาจก่อให้ผลกระทบอาทิ พื้นที่ก่อตั้งบ่อขยะอยู่ใน”เขตจัดรูปที่ดิน”มีผืนนาและคลองชลประทานโดยรอบและปัญหาน้ำใต้ดินอาจมีสารมลพิษปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ ซึ่ง บ่อขยะ(เดิม)นั้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพียง 35 เมตรเท่านั้น แต่ตามหลักกฎหมายต้องอยู่ห่างระยะ 100 เมตร
อย่างไรก็ตาม บริษัทดีดี รุ่งเรือง ชี้แจ้งว่า บ่อขยะใช้ดินเหนียวปิดฝังกลบแก้ปัญหากลิ่นและใช้แผ่นพลาสติกปูรองพื้น–ปิดกั้นน้ำฝนด้านบน สุดท้ายได้จัดให้มีการลงความคิดเห็นของประชาชน สรุปว่า มีผู้เห็นด้วย 150 คน และไม่เห็นด้วย 25 คน ถือว่า ผ่านฉลุยในรอบแรก ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น
นายธวัช สิงหเดช นายก อบต.ท่าโพธิ์ กล่าวว่า หจก.ดีดี รุ่งเรื่องพัฒนายื่นความประสงค์ขออนุญาตประกอบกิจการสถานที่กำจัดขยะตั้งอยู่ที่ตำบลทำโพธิ์ อ.เมืองพื้นที่ 46 ไร่สถานที่รับกำจัดขยะมูลฝอย แบบฝังกลบ จึงต้องเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในขั้นแรก เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ตามหลักกฎหมาย คือ
1.พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
2.กฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ.2560
3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือขนาดกิจการและหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการก่อนการพิจารณาอกใบอนุญาต2561
4.พรบ.รักษาความสะอาดและคามเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
5.ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นการออกแบบก่อสร้าง และการจัดการสถานที่ฝังกลบมูลผ่อยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
6.ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2563 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก (ทสจ.พ.ล.) กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีผู้เห็นด้วย 150 คนกับผู้ไม่เห็นด้วย 25 คน นั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่น อบต.ท่าโพธิ์เป็นเจ้าภาพ แต่จะต้องตรวจสอบสอบที่มาที่ไปของผู้ใช้สิทธิ์ผู้ตรวจสอบในเชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสียระยะ 1.5 กิโลเมตรรอบๆบ่อขยะ แต่นั่นถือเป็นขั้นแรก หรือเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนตามหลักประชาพิจารณ์ก่อนเปิดบ่อขยะ ตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก อีกทั้งพื้นที่บ่อขยะอยู่ในเขตจัดรูปที่ดิน ใกล้แหล่งน้ำยังต้องพิจารณาถึงทำเลที่ตั้ง ก่อนเรื่องจะผ่านมาถึง ทสจ.พล.
สำหรับ หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา นั้นก็เป็นผู้ประกอบการ รายเดิมที่เปิดบ่อขยะลักษณะคอนโทรนดัมพ์ แต่ปัจจุบันกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้น บ่อที่ไม่ถูกต้องลักษณะฝังกลบ จึงต้องถูกปิดไป และยื่นขออนุญาติใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่ง ทสจ.ยินดีให้ผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนพิษณุโลก
ถามว่า เป็นห่วงเรื่องอะไร หากเปิดบ่อขยะแห่งใหม่ ผอ.ทจส.พล.เปิดเผยว่า ทุกด้าน ทั้งปัญหากลิ่น และความสะอาด และต้องคำนึงถึงเชื้อโรค ปัญหาสารที่สะสมอยู่ในน้ำใต้ดิน ซึ่งจะต้องผู้เชี่ยวชาญ (สวล.ภาค3) ดูแล ส่วนพื้นที่บ่อขยะนั้นอยู่ในเขตจัดรูปที่ดิน จะมีปัญหาหรือไม่อย่างไรนั้น คงไม่สามารถตอบแทนได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมจัดรูปที่ดิน ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณขยะเกิดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก วันละ 846 ตันทุกวันนี้ เหลือค้างในชุมชน ถูกนำมากำจัด 350-380 ตันต่อวัน ยังบ่อขยะที่กำจัดถูกต้องหลักวิชาการหรือตามกฎหมายเพียงแห่งเดียว คือ “ไทยมีดี”ต.หัวรอ ส่วนอีกแห่ง คือ“ดีดีรุ่งเรือง”เปิดบ่อให้ทิ้งขยะลักษณะยกดัมพ์ ตาม มาตรา 44 ยุคทหาร คสช. แต่กลับต้องถูกปิดไปเพราะกฎหมายไม่เอื้ออำนวย ผิดหลักการฝังกลบตามหลักวิชาการ จึงมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่ อบต.ท่าโพธิ์ เพื่อเปิดบ่อขยะใหม่อีกครั้ง
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพิษณุโลกนั้นยังเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ปัจจุบันมีการยื่นเสนอโครงการผ่านไปยัง “คณะกรรมการขยะมูลฝอย” จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลหัวรอ (ประมาณ 3 เมกะวัตต์) และ เทศบาลตำบลบ้านกร่าง (9.9 เมกะวัตต์) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา จากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย