เปิดตัว “ต้าวขุน” มาสคอตเทศบาลนคร ตัวแทนการสื่อสาร ทำงานใกล้ชิดกับชาวพิษณุโลก

วันที่ 22 พฤจิกายน 2565 เวลา 14.00 ณ ห้องประชุม ขุนพิเรนทรเทพ หอสมุดเทศบาลนครพิษณุโลก ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เป็นประธานเปิดตัว “ต้าวขุน” มาสคอตเทศบาลนครพิษณุโลก ตัวแทนในการสื่อสาร และทำงานเพื่อใกล้ชิดกับชาวพิษณุโลก โดยมี คุณชินโตะ โอคูกาวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มินโตะ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลและสื่อมวลชนดข้าร่วมงานในครั้งนี้

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเทศบาลนครพิษณุโลกได้เผชิญกับสภาวะการแพร่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการรักษาระย่าง และการงดจัดกิจกรรมต่างๆ จนทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนกับเทศบาลนครพิษณุโลกลดน้อยลง โดยในปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง ทางเทศบาลนครพิษณุโลกจึงเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเทศบาลและประชาชนเมืองพิษณุโลก โดยใช้มาสคอตเป็นจุดศูนย์กลาง

เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานและกิจกรรมของเทศบาลนครพิษณุโลก ตามวิสัยทัศน์ในการพัฒนาท้องถิ่นที่ว่า “เมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ประชาชนมีความสุข” 

โดยในช่วงงานลอยกระทงเมื่อวันที่ 8 พย 2565 เทศบาลก็ได้นำมาสคอตมาโชว์ตัวเพื่อสร้างความสุข สนุกสนานให้กับผู้คน รวมไปถึงงานต่อๆ ไป ที่เทศบาลนครพิษณุโลกเข้าไปมีส่วนร่วม ดิฉันจึงหวังว่า ประชาชนและคนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมและมีความสุขมากขึ้น เมื่อเห็นการทำงานเทศบาลของเราผ่านมาสคอตต้าวขุน”

ด้าน คุณชินโตะ โอคูกาวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มินโตะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสื่อสารในปี 2022 ว่า “ปัจจุบันการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน จนเกิดเป็นกระแสความนิยมของการวางกลยุทธ์ทางการตลาดผ่านการนำคาแรคเตอร์และมาสคอตมาใช้ในสื่อสารเเบรนด์ หรือ ‘Mascot Marketing’ ผ่านการเล่าเรื่องด้วยคาแรคเตอร์เพื่อลดช่องว่างระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค

โดยมาสคอตนั้น เป็นหนึ่งในตัวกลางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสร้างการจดจำ ช่วยลดอุปสรรคของภาษา และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมกับคนได้ดีมากๆ ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้มาสคอตในการสื่อสาร และสร้างความผูกพันกับผู้คนจากมาสคอตประจำจังหวัด ของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถสร้างการเปลี่ยนเเปลงเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นได้

ซึ่งในความจริงแล้วมีมาสคอตในญี่ปุ่นหลายจังหวัด ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นมาสคอตของจังหวัดตั้งแต่แรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มาสคอตกับคนมีเรื่องราว มีคอนเทนต์ร่วมกันมากขึ้น คนในจังหวัดก็รู้สึกผูกพันกับมาสคอตนั้นไปโดยปริยาย และนอกจากความน่ารักแล้ว มาสคอตเหล่านี้ช่วยทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ ดีขึ้นได้ ทั้งยังสร้างความผูกพันและกลมเกลียวกันของคนในจังหวัดได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทางมินโตะจึงเชื่อว่าการนำมาสคอตต้าวขุน เข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก จะเป็นหนึ่งในวิธีการในการพัฒนาเมือง และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเทศบาลและประชาชนภายในจังหวัดได้เป็นอย่างดี