เชียงใหม่ ชาวม่อนแจ่ม “เดือด” รวมตัว ร้อง รมว.กระทรวงทรัพฯ ถูกกลั่นแกล้ง

164

เชียงใหม่ ชาวม่อนแจ่ม “เดือด” รวมตัว ร้อง รมว.กระทรวงทรัพฯ ถูกกลั่นแกล้ง

วันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีชาวม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เดินทางจากดอยม่อนแจ่ม ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมามายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และปักหลักหน้าอาคารอำนวยการ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทบทวนนโยบายและคำสั่งที่กระทำต่อประชาชนชาวม่อนแจ่ม ที่มุ่งเน้นการขับไล่ ส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคาม บุกรุกเคหสถาน ออกคำสั่งให้รื้อถอนที่อยู่อาศัยใช้กฎหมายที่ถือเป็นการกลั่นแกล้งอย่างไร้จริยธรรม

โดยแถลงการณ์ระบุว่า ในยุคของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวม่อนแจ่มเลย แม้แต่ครั้งเดียว
ราษฎรชาวม่อนแจ่มทั้งหมดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าพื้นเมืองชนเผ่าม้ง ทำกินทำประโยชน์และอยู่อาศัยมาก่อนประกาศเป็นที่ดินของรัฐตามกฎหมายครั้งแรก แต่มีการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้าสงวนแห่งชาติ 2507 และที่แก้ไข อันเป็นการออกกฎหมายใช้บังคับย้อนหลัง เพียงแต่หมู่บ้าน ชุมชน ประชาชนไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ซึ่งกฎหมายออกมาภายหลังที่เป็นชุมชนหมู่บ้าน ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ จากการเกษตรเป็นการท่องเที่ยว ชี้แจงว่าการประกอบอาชีพของชาวบ้านเป็นการดำเนินการภายใต้เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 หาเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ไม่และที่สำคัญยังเป็นการประกอบอาชีพโดยสุจริต

โดยได้รับการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีการสนับสนุนงบประมาณการจัดฝึกอบรม เส้นทางการคมนาคม ไฟฟ้า จากทางราชการทั้งสิ้นอีกด้วย
ภายหลังอ่านแถลงการณ์ กลุ่มชาวบ้านได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยตัวแทนชาวบ้านได้ทวงถามความคืบหน้าถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการตามแผนแม่บท พร้อมกับทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านเคยยื่นถวายฎีกาผ่านจังหวัดไปก่อนหน้านี้

ขอให้เร่งพิสูจน์สิทธิการครอบครองของชาวบ้านด้วยการใช้ข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียม เนื่องจากการนำแผนที่ของโครงการหลวงมาใช้ดำเนินคดีกับชาวบ้านมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง รวมทั้งขอให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือขอความร่วมมือมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 65 โดยคณะกรรมการสิทธิฯได้ขอความร่วมมือให้ชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน

สำหรับการเดินทางเข้าถวายฎีกา กลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน จะออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัด ในช่วงเย็นวันนี้และจะยื่นถวายฎีกาในช่วงเช้าพรุ่งนี้