พิษณุโลก “จ่าทวี”เจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน รับรางวัลศิลปาจารย์คนแรกของประเทศไทย
วันที่ 5 กันยายน 2565 เวลา 13.00 น . ณ พิพิธภัณฑ์ พื้นบ้าน”จ่าทวี” อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีพิธียกย่องเชิดชูเกียรติจ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณเขตต์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “จ่าทวี”ที่ได้รับรางวัลศิลปาจารย์ ประจำปี 2565 พร้อมเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้
โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รศ.ดร.ธัญญา สังขภัณธ์ธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก นางศศิวิมล เกตุศรีบุรินท์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ภายในงานมีการแสดงรำแหล่พระพุทธชินราช การแสดงพื้นบ้านมังคละ และการสาธิตทางวัฒนธรรม ได้แก่ การทำเข็มกลัด การทำยาดม การทำว่าวไทยภาพพิมพ์สีสร้างสรรค์ลงบนเสื้อเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ภาพพิมพ์ลายไทยลงบนถุงผ้า การตีดาบเหล็กน้ำพี้ การทำพิมพ์พระ เป็นต้น
รายวานข่าวแจ้งว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปินที่เป็นต้นแบบอันดีงาม ครูผู้เปี่ยมล้นด้วยองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และยึดมั่นแนวทางปฏิบัติภารกิจในการธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด และสร้างสรรค์พัฒนางานศิลปะและวัฒนธรรมไทย เพื่อมิให้มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติสูญหาย จึงได้กำหนดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปาจารย์ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูศิลป์ ที่มุ่งมั่นอุทิศตนถ่ายทอดองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยศิลปาจารย์ นอกจากได้รับการประกาศยกย่องนี้แล้วจะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็ม พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป
จ.ส.อ. ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ครูช่างผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ประติมากรรม “พระพุทธชินราช” จำลองที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามเหมือนองค์จริงมากที่สุด จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์” โดยได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี 2562 และยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 ได้รับรางวัลเพชรสยามเมื่อปี 2564 สาขาช่างฝีมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้รับรางวัลข้าของแผ่นดินด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรมเมื่อปี 2564 จากสำนักงานเอกลักษณ์ของชาติสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
จ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณเขตต์ เกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2475 เป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก ในวัยเด็กได้รับการถ่ายทอดวิชาการปั้นจากบิดา ซึ่งเป็นช่างปั้นของวัด เมื่อเติบโตขึ้น ท่านเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งช่างเขียน ฝ่ายยุทธโยธา กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างนั้น มีโอกาสฝึกงานการหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และได้รับการถ่ายทอดวิชาประติมากรรมจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สนั่น ศิลากร ซึ่งเป็นประติมากรชั้นครู
ต่อมาใน พ.ศ. 2521 ท่านลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพช่างหล่อพระพุทธรูป และได้เริ่มบุกเบิกการปั้นหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลอง จากความทรงจำที่ได้ไปสักการะอยู่เป็นนิจ ทำให้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและได้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลักศิลาจารึกพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
โรงหล่อบูรณะไทย นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบสัมมาชีพของท่านแล้ว ยังเป็นโรงเรียนที่ถ่ายทอดวิชาการปั้นหล่อให้กับชาวบ้านและผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จนลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่นได้นำไปประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
โดยรายได้จากโรงหล่อบูรณะไทยยังเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” เพื่อการสร้างประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เมื่อปี 2526 ด้วยเจตจำนงในการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งรวบรวมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง บรรยายให้ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และจัดกิจกรรมเสริมความรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็ก นักเรียน เยาวชน ผู้สนใจทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ