“บิ๊กโจ๊ก”ปิดคดีค้ามนุษย์ ลักลอบขนแรงานชาวโรฮิงญา ชายแดนแม่สอด ยึด 53 บ/ช หมุนเวียน 1,630 ล้านบาท
โดยมีการอายัดบัญชีผู้ต้อง จำนวน 53 บัญชี เงินหมุนเวียน 1,630 ล้านบาท พร้อมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 2 กันยายน 2565 พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงปิดคดีผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ และคดีฟอกเงิน ในพื้นที่ ภาค 6 และภาค 8 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ในพื้นที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งการปราบปราม ขบวนการค้ามนุษย์ เริ่มต้นจาก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาค 8 สามารถจับกุม การลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ในพื้นที่ สภ.มาบอำมฤต ภ.จังหวัดชุมพร จำนวน 2 คดี และสภ.เขานิพันธ์ ภ.จังหวัดสุราษฏร์ธานี จำนวน 1 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา รวม 8 คน (ไทย 7 คน เมียนมา 1 คน) พร้อมแรงงานชาวโรฮิงญา อีก 14 คน โดยดำเนินคดี ในความผิดฐาน ค้ามนุษย์ ร่วมกัน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และพ.ร.บ.เข้าเมืองฯ
จากการสืบสวน พบว่าขบวนการดังกล่าว นั้นมีการลักลอบขนแรงงานชาวโรฮิงญา เข้ามาในราชอาณาจักร จากฝั่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อไปส่งจุดหมายปลายทาง ที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น ยังมีพฤติการณ์ และเส้นทางการเงิน ทื่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ต้องหา ที่เคยถูกจับกุมในความผิด เกี่ยวกับการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ชาวโรฮิงญา อีกคดีหนึ่ง ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่ สภ.ทุ่งสง ภ.จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 คดี มีผู้ต้องหา จำนวน 5 ราย (ไทย 1 คน เมียนมา 4 คน )
จากการขยายผลเครือข่ายดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก จำนวน 9 คน ( คนไทย 4 คน เมียนมา 5 คน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเอเย่น ในการนำพา คนข้ามแดน เข้ามายังประเทศไทย โดยผิดกฎหมาย ผู้ต้องหาดังกล่าว ถูกดำเนินคดี ในความผิดฐาน ร่วมกัน นำหรือพา คนต่างด้าว เข้ามาในราชอาณาจักร ร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือ ด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าว พ้นจากการจับกุม และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ รวมจำนวน 3 คดี ( สภ. เขานิพนธ์ 1 คดี และสภ.มาบอำมฤต 2 คดี)
นอกจากนี้ หลังจากที่ได้ทำการสอบสวนขยายผลแล้วพบว่า เส้นทางการเงินกลุ่มผู้ต้องหา ในคดีต้นนั้น มีความเชื่อมโยงกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ในพื้นที่ สภ.ทุ่งสง ภ.จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสง ได้มีคำพิพากษา ให้จำเลย จำนวน 3 คน ซึ่งถูกจับกุม ดำเนินคดี ฐานการค้ามนุษย์ ศาลได้พิพากษา จำคุก จำเลย รายละ 6 ปี ไปแล้ว นั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงได้ดำเนินคดี กับกลุ่มผู้ต้องหา ในคดีนี้รวมกับจำเลยดังกล่าว เพิ่มเติมในความผิดฐานฟอกเงินโดยกระทำด้วยประการใดๆ
เพื่อปกปิด หรืออำพราง การจำหน่ายจ่ายโอน การได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด และสมคบตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินอีกจำนวน 2 คดี โดยได้ขออนุมัติ จับกุมผู้ต้องหา รวม 23 คน เป็นคนไทย 13 คน เมียนมา 10 คน และยังได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา
เพื่อเข้าทำการตรวจค้นยึดทรัพย์และอายัดบัญชีผู้ต้องหา ในพื้นที่ 12 จังหวัด เพื่อตรวจค้นเป้าหมาย 19 เป้าหมาย ผลการปฏิบัติ
1 สามารถจับกุมผู้ต้องหา ได้ 18 คน หลบหนี 5 คน (สัญชาติเมียนมา)
2 อายัดบัญชีผู้ต้องหา จำนวน 53 บัญชี เงินหมุนเวียน 1,630 ล้านบาท
3 ตรวจยืดบ้านพร้อมที่ดิน 23 หลัง
4 รถยนต์ 24 คัน
5 ยึด/อายัดเรือประมง 12 ลำ
6 ทองรูปพรรณ 37 บาท
7.พอร์ตทองคำ 46.4 ล้านบาท
และทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวนหลายรายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัด ทั้งหมด 196.4 ล้านบาท
นอกจากนี้ การดำเนินการกับผู้ต้องหาทั้งหมด ดังกล่าวมาแล้วนั้น จากการสืบสวน พบว่า ก่อนที่ชาวโรฮิงญา ถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 จะถูกตรวจพบนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง กับกระบวนการขนแรงงานต่างด้างดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัด ตชด. 346 จังหวัดตาก จำนวน 3 คน มีพฤติการณ์กระทำผิด ร่วมกับนายอาลี ลาลู ผู้ต้องหาในคดี โดยนายอาลี ได้เรียกรับเงินจากชาวโรฮิงญา จำนวน 16 คน ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในศูนย์ Organizational Quarantine หรือสถานที่กักตัวแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในช่วงสถานการณ์โควิด โดยได้เรียกเงินคนละ 20,000-25,000 บาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือออกจากศูนย์ และนำตัวไปผลักดันออกช่องทางธรรมชาติ ให้กับขบวนการดังกล่าว เพื่อจะได้ลักลอบนำกลับเข้ามายังไทยอีกครั้ง โดยนายอาลี ได้แบ่งเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 90,000 บาท
ก่อนจะถูกจับกุมดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. 346 ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย ยศ ดต. ผบ.หมู่ ตชด.346 ถูกจับกุม ตามหมายจับศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ที่ จ.2/2565 ลงวันที่ 30 มี.ค. 65 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จับกุมเพื่อวันที่ 27 ก.ค. 65
นอกจากนี้ยังมี เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ยศ พ.ต.ท. และร.ต.ท. สังกัด ตชด. 346 ทั้งสองราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จังหวัดตาก ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ซึ่งสรุปการดำเนินคดีเกี่ยวกับ การดำเนินคดีค้ามนุษย์ ในพื้นที่ ภ.6 และ ภ. 8 ดังกล่าว มีการดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 10 คดี ดำเนินคดี กับผู้ต้องหา รวมทั้งสิ้น 39 ราย มีการยึดทรัพย์สิน จากคดีฟอกเงินได้รวม ทั้งสิ้น 196.4 ล้านบาท โดยล่าสุด ได้ทำการตรวจยึดพอร์ตทองคำ มูลค่า 46.4 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กว่าจะจับคนร้ายได้ นั้น ต้องใช้งบประมาณมหาศาล จากเหนือจรดใต้ และกว่าจะยึดทรัพย์ พิสูจน์ทรัพย์ ไล่เส้นทางการเงิน ต้องใช้เวลามาก ฉนั้นในปีต่อไป เราจะเน้นการป้องกันปราบปรามเป็นหลัก นำการสืบสวนปราบปราม
ทั้งนี้สำหรับการเร่งรัดปราบปราม สถานการณ์การค้ามนุษย์ ของไทยพบว่า สถานการณ์ดีขึ้น หากจะให้เป็นเทียร์ 1 จะต้องมีการเน้นการป้องกันปราบปราม และดูแลควบคุมป้องกัน แนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ ต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางของกลุ่มขบวนการ ตลอดจนตนจะเข้าไปดูแลทั้งระบบ สำหรับพื้นที่อำเภอแม่สอด คาดว่าสถานการณ์จะเบาลงไป เนื่องจากเรา สามารถจับกุมนายอาลี ลาลู ซึ่งเป็นกลุ่มหัวหน้าขบวนการใหญ่ในพื้นที่ และมีการออกหมายจับ เจ้าของบ้านในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนกรณี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ส่วน มาตรการทางวินัย ได้มีตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย เนื่องจาก เป็นความผิดวินัยร้ายแรง มีการแจ้งข้อกล่าวหาทางคดีอาญา หากศาลตัดสินมาแล้ว ก็จะต้องรอการพิจารณาความผิดทางอาญา หากมีความผิด ก็จะต้องออกจากราชการ