215

อำเภอพบพระ เปิดเทศกาลอะโวคาโด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตร จัดกิจกรรมสีสันแข่งขันกินอะโวคาโด

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่เวทีกลาง องค์การบริหารส่วนตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก  นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยนายสมพงษ์  ฟุ้งทวีวงศ์  นายอำเภอพบพระ และนายมณฑล  สว่างนภาลัย  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรวมไทยพัฒนา ตลอดจนส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชน ร่วมเปิดงานโครงการเทศกาลอะโวคาโด ตำบลรวมไทยพัฒนา ประจำปี 2565  ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 29-31 กรกฏาคม นี้

อะโวคาโด ในพื้นที่ตำบลรวมไทยพัฒนา ได้รับความสนใจ และมีการปลูกและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการขยายกิ่งพันธุ์อย่างหลากหลาย นับว่าอะโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ทั้งด้านคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรได้อย่างเป็นดี มีตลาดรองรับและมีความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก เพราะนอกจากจะทานผลสดแล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร แม่สอด มีการส่งเสริม การแปรรูป ผลิตภัณฑ์อะโวคาโด ทั้งการ ทำเยลลี่ โลชั่นทาผิว และสบู่  ที่ผลิตจาก อะโวคาโด

นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูป หลากหลาย จากกลุ่มเกษตรกร ทั้งไอศกรีม อะโวคาโด เป็นต้น รวมทั้งภายในงาน ยังมีไฮไลท์ การจัดการแข่งขัน รับประทาน อะโวคาโด ที่สร้างความสนใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องรับประทาน อะโวคาโด 1 จานใหญ่  ให้หมดในเวลาที่รวดเร็วที่สุด จึงจะเป็นผู้ชนะ

ซึ่งปัจจุบันพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด้  จำนวน 557 ราย และมีพื้นที่ปลูกแบบแปลงเดี่ยวและแปลงผสมผสาน 5,136.56 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 1,000 ไร่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้ดี เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด โดยราคาจำหน่ายผลผลิตหน้าสวน 30 -60 บาท/กิโลกรัม

ในงานดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ของพืชผลทางการเกษตร และผลไม้อะโวคาโด รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านเกษตรกรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและซื้อสินค้า จึงมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น การประกวดต่างๆ การแข่งขันกีฬาสากล การประดับตกแต่ง  จุดสำคัญภายในงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นในผู้สนใจทั่วไปอยากเข้ามาเที่ยวชมในงาน รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการตลาดสู่การจำหน่ายสินค้าในชุมชนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาโวกาโดคุณภาพสู่เกษตรกรผู้ปลูกเพิ่มพื้นที่และช่องทางการจำหน่ายสินค้าการเกษตร สินค้าOTOP และสินค้าพื้นเมืองในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลรวมไทยพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้น กระตุ้นภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยว