พิษณุโลก ยกเลิกโปรแกรม SAVE PHITSANULOK ลงทะเบียนเข้า-ออกจังหวัด อำนวยความสะดวกประชาชน
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมบุณยวงศ์วิโรจน์ ชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 9/2565(ผ่านระบบ Webex) โดยมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธาน โดยยกเลิกการลงทะเบียนเข้าออกจังหวัดในโปรแกรม SAVE PHITSANULOK เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์, มาตรการระดับประเทศ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค COVID-19 ให้สอดคล้องกับมาตรการที่ ศบค. กำหนดให้ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 1 ใน 46 จังหวัด ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญทำให้ต้องคงมาตรการเดิมต่อไป ดังนี้
1. สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะยังคงปิดให้บริการ โดยสามารถปรับรูปแบบเป็นร้านอาหารได้ โดย ให้ยื่นขออนุญาต ที่ ศบค.อำเภอ เพื่อตรวจ
ประเมินตามมาตรฐาน Thai stop Covid Plus 2, SHA+ หากเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาอนุญาตก่อนเปิดดำเนินการ ทั้งนี้ให้จัดให้มีป้ายแสดงจำนวนสูงสุดที่อนุญาตให้ผู้เข้าใช้บริการได้ (กำหนด 1 คน ต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร)
2. มาตรการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร
– จำกัด เวลาไม่เกิน 24.00 น
– ร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องผ่านการประเมินมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus
3. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระว่ายน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงสถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือที่เป็นห้องปรับอากาศเปิดให้บริการได้ตามปกติ การใช้สถานที่เพื่อจัดการแข่งขันกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่ม จำกัดผู้เข้าชม ไม่เกินร้อยละ 75 และประเภทกีฬากลางแจ้ง กำหนดผู้ชมไม่เกินความจุสนาม (กำหนด 1 คน ต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร)
4. ห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการได้ตามปกติของสถานที่นั้น ๆ ส่วนสวนน้ำ และสวนสนุกในห้าง สามารถเปิดบริการได้โดยให้ขออนุญาตต่อ ศบค.อำเภอ ประเมินมาตรการฯและพิจารณาอนุญาตก่อนเปิดดำเนินการ
5. งดการจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริง (คงมาตรการเดิม) ยกเว้นการจัดงานตามประเพณีนิยม ได้แก่ งานมงคลสมรส งานอุปสมบท และงานสวดพระอภิธรรมและงานฌาปนกิจศพ สามารถจัดกิจกรรมได้
– กรณีจำนวนคนไม่เกิน 200 คน สามารถจัดได้โดยให้ แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่
– กรณีที่เกิน 200 คน แต่ไม่เกิน 400 คน ให้ยื่นขออนุญาตต่อ
ศบค.อำเภอ
– กรณี เกิน 400 คนขึ้นไป ให้ยื่นต่อ คกก.โรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก พิจารณาอนุญาตก่อนจัดงานไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ ยกเว้นงานสวดพระอภิธรรมและงานฌาปนกิจศพ และ ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงาน หากมีความจำเป็นจะจัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แจ้งและเสนอมาตรการฯ แก่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต
6. การจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนา อนุญาตให้มีการดำเนินการได้ในโรงแรมที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน Thai Stop COVID Plus และจำกัดจำนวนคนรวมไม่เกิน 500 คน โดยให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ เพื่อกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด หากจำนวนมากกว่า 500 คน หรือจะมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ให้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ
ปรับมาตรการการกักกันกรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในกลุ่มประชาชนทั่วไปให้สังเกตอาการตนเอง 10 วัน และให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติ สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด 19 ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ศบค. ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
ที่ประชุมเห็นชอบ ให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งในจังหวัดพิษณุโลก หรือสถานที่อื่นที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่กำหนด เพื่อให้มีความครอบคลุม อย่างน้อยร้อยละ 60 ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 รองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยมอบหมายให้ ศบค.อำเภอ ติดตามกำกับเร่งรัดการดำเนินการ
Cr: ปชส.จังหวัดพิษณุโลก