เสียงก่นกึกก้อง “คนบ้านกร่าง”ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
ท่ามกลางกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนบ้านกร่าง ยังคง “อื้ออึง” และอบอวลไม่มีทีท่าว่าจะจืดจางร้างลาทุกคืนวัน ราวกับหวั่นเกรงกลิ่นขยะและมลพิษยามสายลมพัดพริ้วโชยมา ตราบที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กำลังมีทีท่าว่าจะอุบัติขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ออกหนังสือลงวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ได้ออกประกาศและแจ้งให้กำนัน- ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบ้านกร่าง จัดประชุมรับฟังความเห็นของประชาชน 6 หมู่บ้าน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 1,800 ล้านบาท (ข้อมูลเว็บไซต์ อบต.บ้านกร่าง)
อย่างไรก็ตาม เอกสารของกลุ่มผู้คัดค้านประมาณ 200 คน ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า สำรวจความเห็นหมู่ 4,5,6, 7,9,10 และมีผู้เห็นด้วย 456 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน ทั้งที่คนในชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านดังกล่าว มีประชากรเกือบ 7,000 คน หากรวมทั้งตำบลจะมีประชากร จำนวน 16,223 คน
ทว่ากลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง จึงคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังขยะ การร่วมทุนของ อบต.บ้านกร่าง กับบริษัทเอกชน การออกแบบสอบถามรับฟังความคิดเห็นเฉพาะบางกลุ่ม บางหมู่บ้านเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้วนั้นยังไม่ถึงครึ่ง มีตารางชี้แจงว่าจากการสรุปแบบสอบถามทั้งหมด 6 หมู่ รวมได้ 460 คน มีผู้เห็นด้วยกับโครงการ 456 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน
กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง จึงแสดงพลังคัดค้านโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตามโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าการดำเนินการไม่เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และมีความไม่ถูกต้อง ดังนี้
1. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับทราบข้อมูลของโครงการอย่างทั่วถึง การแจกแบบสอบถามไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มในพื้นที่
2. การทำประชาสัมพันธ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรที่มีอยู่จริงในพื้นที่ เป็นไปอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามระเบียบการทำประชาพิจารณ์ตามสำนักนายกรัฐมนตรี
4. การดำเนินการตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่างกล่าวอ้าง มิได้มีการรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง และไม่มีการแถลงหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซักถามข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมแต่ประการใด ซึ่งขัดกับหลักประชาพิจารณ์
5. การดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสาร ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย
จึงขอให้ผู้มีอำนาจ พิจารณายับยั้งโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จนกว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องโปร่งใส ตามขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ ทางกลุ่มระบุเหตุผลด้วยว่า ผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมอีกจำนวนมาก เพราะเป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษา 1 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก มัธยมศึกษา 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม และประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านกร่าง (พระขาวชัยสิทธิ์) โรงเรียนวัดธรรมเกษตร (เกษตรานุเคราะห์) โรงเรียนวัดแหลมโพธิ์(ขยายโอกาส) และโรงเรียนบ้านแม่ระหัน ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่กลุ่มทุนไปกว๊านซื้อและมัดจำที่ดินย่านนั้นไว้ ระยะห่างประมาณ 1 กิโลเมตร
นอกจากนั้นตำบลบ้านกร่าง ยังมีวัดที่ใช้บำเพ็ญศาสนกิจทางศาสนาจำนวน 8 วัด ได้แก่ วัดพระขาวชัยสิทธิ์ วัดเด่นโบสถ์โพธิ์งาม วัดนิมิตธรรมาราม วัดธรรมเกษตร วัดป่าเลไลย์ วัดแหลมโพธิ์ วัดพระยายมราช และวัดบ้านแม่ระหัน
อาจสร้างมลพิษพื้นที่การเกษตร ในฤดูน้ำหลากย่อมสร้างสภาพปัญหากับสภาพแวดล้อมลุ่มต่ำ มีการขุดลอกคลองธรรมชาติ และคลองส่งน้ำของชลประทาน แหล่งน้ำขนาดใหญ่ “บึงแม่ระหัน” ที่ได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้ ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้จัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ลงไปพัฒนาหลายรายการ
มีเส้นทางการจราจรที่แยกจากถนนสิงหวัฒน์ สายพิษณุโลก-สุโขทัย เข้าสู่พื้นที่กลุ่มทุนไปกว้านซื้อและมัดจำไว้ เพื่อผุดโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เป็นเส้นทางเลียบคลองชลประทาน ที่ใช้สัญจรไป-มา ขนาดเล็กค่อนข้างคับแคบความกว้างไม่มากนัก และกำลังทรุดโทรมอย่างต่อเนื่อง
เส้นทางดังกล่าวไปบรรจบกับเส้นทางเข้าสู่บ้านแม่ระหัน หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านกร่าง เป็นชุมชนที่กำลังเจริญเติบโต ที่มีทั้งวัด-โรงเรียน อีกทั้งบ้านจัดสรรและพื้นที่ผืนนากำลังกลายเป็นที่อยู่อาศัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ดินราคาไม่สูงมากนัก ปัจจุบันยังมีคฤหาสถ์ราคานับ 10 ล้านบาท ตั้งตระหง่านบนเส้นทางนี้ บ้านกร่างกลับกลายเป็นพื้นที่สังคมชนบทกึ่งเมือง
ประกอบกับเส้นทางเดียวกัน ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งโรงงานชำแหละไก่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกร่าง กำลังผลิต ประมาณ 50,000 ตัว/วัน คนงาน 500 คน มีรถยนต์ -จักรยานยนต์ ของคนงานวิ่งเข้า-ออก ตลอดจนรถยนต์ขนส่งทั้งไก่สดและแปรรูป รวมผู้ที่ไปทำไร่ ทำนา หลาย 1,000 ไร่ ที่ต้องใช้ร่วมกันในแต่ละวันจำนวนไม่น้อย
จากข้อมูลของผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ อัตราที่ใช้ขยะ 1 เมกะวัตต์/100 ตัน จึงเท่ากับขยะ 1,000 ตัน/วัน การขนส่งรถยนต์ขนาด 10 ล้อ 250 เที่ยวต่อวัน และถ้านับไป-กลับ 500 เที่ยวต่อวัน
ทั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย สะท้อนก้นบึ้งเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่นมีมุมมองประการใด ในอันที่ส่งผลกระกระทบต่อสังคมส่วนรวมติดตามมาในอนาคต หากคิดโครงการกำจัดขยะขนาดใหญ่ตามข้ออ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่มีการจัดกำจัดขยะบริหารจัดการภายในชุมชนและตำบลของตนเอง ประการสำคัญลงทุนไม่สูงมากนัก เพียงไม่กี่ล้านบาท เพราะบ้านกร่างไม่ใช่พื้นที่ชายขอบ ชายเขา และภูผาก็หาไม่
อย่างไรก็ตาม การทำประชาพิจารณ์ตลอดจนกระบวนการในการดำเนินการจัดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบจากผู้มีอำนาจ และนักการเมือง-ข้าราชการท้องถิ่น ที่ออกมาขานรับกันตามลำดับอย่างรวบรัดในการทำประชาพิจารณ์ คล้ายกับย่ำยีปัญญาชน
ขณะเดียวกันคงต้องย้อนถามสุ้มเสียงคนบ้านกร่างส่วนใหญ่ พร้อมรับหรือไม่กับผลกระทบต่อแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ มีทุ่งนาอันอุดม ซากปรักหักพังของวัดวาอารามไม่ต่ำกว่า 30 วัด คลองขุดโบราณยาวหลายกิโลเมตร และร่องรอยประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ขุดพบถ้วย โถ โอชาม บอกยุคสมัยมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย (หอศิลปวัฒธรรมเมืองยมราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก)
“บ้านกร่าง”ชุมชนใหญ่ที่มีมรดกตกทอด และหลักฐานทางประวัติศาสตร์คล้ายเมืองหน้าด่านด้วยสภาพภูมิศาสตร์ อู่ข้าว อู่น้ำ จึงมีบรรพชนเป็นเหล่า”ขุนศึก”เลือดนักรบ ลูก หลาน เหลน ยังหลงเหลือหรือไม่
กร บ้านกร่าง /รายงาน