เพชรบูรณ์ ป.ป.ช.ชี้มูลวินัย-อาญา พัฒนาการจังหวัด-นายก อบต.ซับไม้แดง
รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ แถลงข่าวตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด อดีตพัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ กับพวก กรณีก่อสร้างโรงเรือนน้ำดื่มชุมชนพร้อมติดตั้งชุดผลิตน้ำดื่มสะอาด ตามโครงการผลิตน้ำดื่มสะอาดพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเพชรบูรณ์
จากกรณีการทุจริตดังกล่าว พบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ดังนี้โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเงิน 3,850,000 บาท ปรากฏว่าหลังจากได้รับงบประมาณมาในระหว่างดำเนินการผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับรายละเอียดของปริมาณวัสดุและราคาที่จะดำเนินการลงจาก 19 รายการต่อจุด เหลือเพียง 11 รายการต่อจุด แต่ยังคงมีวงเงินเท่าเดิม และมีการปรับเพิ่มราคาต่อหน่วยของแต่ละรายการให้สูงขึ้น จนทำให้มีคาคาสูงเกินความเป็นจริง
นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดทำราคากลางวัสดุต่าง ๆ โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางไม่ได้ทำหน้าที่ในการกำหนดราคากลาง ไม่มีหลักฐานการสืบราคาจากผู้มีอาชีพ แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย มาให้เจ้าหน้าที่พัสดุ นำไปให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางลงชื่อย้อนหลังเพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าในการจัดทำราคากลาง และจากการกระทำดังกล่าวทำให้รัฐเสียหายเป็นเงิน 1,417,465,04 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ซึ่งเป็นพัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ และคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ทางอาญามีความผิดมาตรา 151 มาครา ๑๕๗ และมาตรา 162 และมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
นอกจากนั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับไม้แดง อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน (25 ตาสับปะรด) เป็นเท็จ และปลอมลายมือชื่อผู้เข้าร่วมประชุมและคณะดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน
จากกรณีการทุจริตดังกล่าว พบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ดังนี้โครงการนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กิจกรรมการป้องกัน การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้ง/ฟื้นฟูผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน (25 ตาสับปะรด) สำหรับในการดำเนินงานนั้นได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานงานกับฝ่ายปกครองดำเนินการจัดตั้งในแต่ละหมู่บ้าน ๆ ละ 25 คน กำหนดให้เบิกจ่ายเงินเพื่อใช้จ่ายสำหรับการประชุมของผู้ประสานงานพลังแผ่นดินได้ไม่เกินครั้งละ 500 บาทต่อเดือน โดยเบิกจ่ายได้เฉพาะค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวัสดุอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็น
ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลซับไม้แดง จากการไต่สวนพยานบุคคล ซึ่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดิน ต่างก็ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการจัดประชุมที่หมู่บ้านทั้ง 15 หมู่บ้านตามที่กำหนดไว้ในโครงการ แต่ปรากฏว่ามีการจัดทำเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย เอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง รายงานขออนุมัติจัดหาพัสดุ หลักฐานการต่อรองราคา ระเบียบวาระการประชุม บันทึกรายงานการประชุมคณะดำเนินงาน รายงานการประชุมผู้ประสานงานพลังแผ่นดินของหมู่ที่ 1-15 หมู่ละ 4 ครั้ง รวม 60 ฉบับ หนังสือส่งมอบพัสดุ
ใบตรวจรับพัสดุและมีการปลอมลายมือชื่อของผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน ในรายงานการประชุมผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน และปลอมลายมือชื่อผู้จดบันทึกและผู้ตรวจรายงานการประชุม เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้มีการจัดประชุมและมีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีการจัดประชุมในหมู่บ้านหมู่ที่ 1-15 เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินในโครงการต่อคลังจังหวัดเพชรบูรณ์
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้ ชี้มูลความผิดทางอาญา มาตรา 162 และให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
☆ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด