รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมรับมือผู้ป่วยโรคลมร้อน Heat Stroke
กองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมรับมือโรค “ฮีทสโตรก” ให้กับกำลังพลทหารเกณฑ์ที่ต้องฝึกกลางแดด ร่วมถึงเตือนประชาชนรับมือโรคฮีทสโตรก แนะการป้องกัน และดูแลผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมืองพิษณุโลก พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 แถลงผลงานของกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ พันเอกพิเศษ อนุรัฐ ตันติจารุกร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับผู้ป่วย จากความร้อน หรือโรคฮีทสโตรก Heat Stroke เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้รับความรู้ข่าวสาร การเตรียมตัวรับกับปัญหาความร้อน หรือโรคฮีทสโตรก สาเหตุจากอุณหภูมิสูงมากในช่วงนี้
พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหาร ทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแล ทหารใหม่ในห้วงการฝึก ให้ลดอัตราเสี่ยงจากโรคลมร้อน (Heat Stroke) ทั้งนี้ได้จัดชุดเวชกรรมป้องกัน พร้อมกับออกรณรงค์ให้ความรู้แก่หน่วยราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และการรักษา อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตลงได้ โรคลมร้อน (Heat Stroke) เป็นการบาดเจ็บจากความร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
โรคลมร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (Acute Medical Emergency) ที่ต้องให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วถูกต้องและรักษาทันที ด้วยการทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วและรักษาตามอาการอื่นๆ จะสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ทั้งอุปกรณ์และคณะเจ้าหน้าที่แพทย์ ทำการคัดกรองผู้ป่วยอยู่ในระดับใด มีการประเมินผลอำ primary survey ระดับความรู้สึกตัว ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นเช็ดตามกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การให้สารน้ำเกลือเย็น การประคบ cold pack 6 จุด คอ 2 ข้าง รักแร้ 2 ข้าง ขาหนีบ 2 ข้าง การให้ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยหนัก หากอาการความร้อนไม่ลดแพทย์จะวินิจฉัยล้างกระเพาะด้วยน้ำเย็นผู้ที่มีความเสี่ยง
โดยเฉพาะเด็กผู้ปกครองต้องไม่ปล่อยให้เด็กไปอยู่ในที่มีอุณหภูมิสูง ในที่โล่งแจ้งกลางแดด หรือในรถยนต์ที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง การใช้ยาหลายชนิดรักษาโรค อาจมีผลเกิดโรคร้อนได้ง่าย กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง หรือยู่ในแหล่งที่มีความร้อนสูง กลุ่มคนอ้วนพื้นผิวการระบายความร้อนมีสัดส่วนน้อย กลุ่มผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับการป้องกันโรคความร้อน หริอโรคฮีทสโตรก คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งแดดร้อนจัดนานๆ ดื่มน้ำให้มากขึ้น ลดส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และลดกิจกรรมหรือออกกำลังกายในเวลาอากาศร้อน สวมเสื้อผ้าที่สีอ่อนและเบาในการระบายความร้อนได้ดี