599

พิษณุโลก สามี-บุตรสาว ขอบคุณ ผอ.สปสช.เขต 2 เยียวยา 4 แสนบาท  แม่ฉีควัคซีนฯ มีผลข้างเคียงเสียชีวิต (คลิป)

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น.นายเลิศ แสงอ่วม อายุ 73 ปี บ้านเลขที่ 184 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และนางกมลวรรณ แสงอ่วม อายุ 49 ปี และนาง  อารยา แสงอ่วม อายุ 48 ปี หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกร่าง ซึ่งเป็นสามีและบุตรสาว 2 คน ของนางเฮียง แสงอ่วม อายุ 76 ปี บ้านเลขที่ 184 หมู่ที่ 5  ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก ที่เสียชีวิตจากผลข้างเคียงฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนิก้า เข็ม 2 และเข็ม 1 ซิโนแวค ได้นำแจกันดอกไม้เข้าขอบคุณทันตแพทย์สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต (2 ผอ.สปสช.เขต 2) พิษณุโลก  ที่ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับครอบครัว จำนวนเงิน 400,000 บาท

สืบเนื่องจากภายหลังนางเฮียง มารดาเสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนิก้า เข็มที่ 2 หลังเข้ารับการรักษาจากโรงพยาลาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกร่าง และโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก

เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปนางเฮียง  มีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ แม้ว่าจะโรคประจำตัวเบาหวาน และไขมันในเส้นเลือด แต่สามารถรับประทานยาควบคุมโรคดังกล่าวได้ตามปกติ

นางกมลวรรณ แสงอ่วม  กล่าวว่า วันนี้มาขอบคุณ ผอ.สปสช.เขต 2 และรัฐบาลที่จ่ายเงินเยียวยา ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัว แม่ไปฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนิกา เข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564  ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)บ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก พอวันที่ 16 กันยายน  แม่มีอาการปวดหัว อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ จึงรับประทานยาพารา และยาแก้ปวดหัว แต่ยังเวียนหัวมาตลอด และไม่ถ่ายอุจจาระ ในระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน อาการเหมือนเดิม และมีอาการปวดหัวรุนแรงมาก ครั้งแรกคิดว่าจะนำส่ง รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก  เกรงว่าโรงพยาบาลพุทธชินราช จะไม่รับในช่วงโควิด -19

นางกมลวรรณ กล่าวอีกว่า จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน จึงพาแม่ไป รพ.สต.บ้านกร่าง หมอได้จ่ายพารา และยาแก้แพ้มาให้ อาการยังไม่ดีขึ้นอีก และวันที่ 23 กันยายน ไปพบหมอที่ รพ.สต.บ้านกร่าง อีกครั้ง กลับมาแม่มีอาการเหมือนเดิม

นางกมลวรรณ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 28 กันยายน จึงพาแม่ไปคลินิคที่ตำบลบ้านกร่างอีก จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน อาการของแม่ทรุดหนักพูดคุยแทบไม่ได้ จึงตัดสินใจนำตัวส่ง รพ.พุทธชินราช ซึ่งทาง รพ.พุทธฯห้ามเยี่ยม เคยติดต่อไปทางโทรศัพท์กับทางโรงยาบาล เพื่อเยี่ยมดูอาการแม่ แต่ไม่ได้รับการอนุญาต จนกระทั่งวันที่ 3 ต.ค. เวลา 10.30 น. ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าแม่เสียชีวิตแล้ว ระบุความเห็นว่าติดเชื้อในกระแสเลือด รู้สึกเสียใจมาก เพราะก่อนที่จะฉีควัคเข็ม 2 แม่ไม่มีอาการอะไรปกติดีทุกอย่าง

“สำหรับกรณีนี้ จึงขอให้เป็นบทเรียนของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่อยากซ้ำเติมใคร ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องละเอียดอ่อน ทุกชีวิตมีคุณค่าและกระทบจิตใจต่อการสูญเสียไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวย หรือยากจน เพราะตนในฐานะ อสม.ได้ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม”นางกมลวรรณ กล่าว

ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า การฉีดวัคซีนส่วนน้อยมากที่มีผลข้างเคียง จากนั้นต้องมาดูว่า มีโรคประจำตัวหรือไม่ หากไม่มี  แล้วพิจารณาว่า ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตมาจากสาเหตุใด  แนวทางการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 3 ประเภท ถ้าฉีดแล้วเจ็บปวด ป่วย 1-2 วันไม่มีการช่วยเหลือ แต่หากเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาเจ็บป่วยเรื้อรัง  พิการ จะพิจารณาช่วยเหลือ สูงสุดถึง 240,000 บาท หากเสียชีวิตพิจารณาช่วยเหลือ สูงสุด 400,000 บาท  การช่วยเหลือผู้เสียหายต้องระบุชื่อว่าใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ และต้องมีประวัติการรักษา ก่อนส่งให้ทาง สปสช. จึงค่อยเข้าสู่คณะกรรมการตัดสินไม่เกิน 5 วัน  และรอเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารครอบครัวผู้เสียหาย

รายงานข่าวแจ้งว่า มีกระแสชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์ รพ.สต.กรณีดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางแม้บุตรสาวของนางเฮียง ทั้ง 2 คน เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ตำบลบ้านกร่าง

หลังมารดาฉีดวัคซีนฯกลับมาวันรุ่งขึ้นมีอาการเวียนหัว และอาเจียนรุนแรงหลายวันติดต่อกันหลายวัน แม้จะนำตัวส่ง รพ.สต.บ้านกร่าง 2 วันติดต่อกัน แต่ทาง รพ.สต.บ้านกร่าง ไม่ได้ส่งตัวต่อไปโรงพยาบาลพุทธชินราช เพียงจ่ายยาแก้แพ้ แก้ปวดให้กลับมารับประทาน เท่านั้น ต่อมาทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเกือบหมดสติ บุตรสาวจึงนำส่ง รพ.พุทธชินราช และเสียชีวิตในที่สุด