แพร่ ชลประทาน “สวนหมัด”ป่าไม้ ขุดลอกตัดไม้หวงห้ามไม่ต้องขออนุญาต ทต.แม่จั๊วะร่วมขนย้าย
วันที่ 22 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าว รายงานจากจังหวัดแพร่ ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบ เหตุการณ์ตัดไม้หวงห้ามจำพวกไม้สักทอง และไม้ประจำจังหวัด ได้แก่ ต้นยมหิน ริมคลองชลประทาน ใน หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มีชาวบ้านในตำบลแม่จั๊วะ เป็นผู้ร้องให้มีการตรวจสอบ โดยได้ร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่ให้ความสำคัญชาวบ้านจึงได้ร้องผ่านสื่อมวลชนและได้นำเสนอข่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา
ล่าสุดเวลา 13:00 น วันที่ 21 กันยายน นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมการตัดต้นไม้ ออกไปตรวจสอบ รายการตรวจสอบครั้งนี้ พบว่ามีการตัดไม้ สักทอง ไม้ยมหิน และไม้สะเดา ผู้ดำเนินการตัด คือกรมชลประทาน โดยมี พนักงาน และรถยนต์ ของ เทศบาลตำบลแม่จั๊วะเป็นผู้ลำเลียงไม้ ที่ตัดแล้ว ออกจากพื้นที่
นายวสันต์สำเนียง รองนายก เทศมนตรีตำบลแม่จั๊วะ กล่าวว่า ทางเทศบาล นำรถเข้ามาช่วย ลำเลียงไม้ ซึ่งกีดขวางการทำงานของกรมชลประทานออกไป ส่วนไม้สัก ไม้ยมหิน และไม้สะเดา ที่ตัดโค่นลงมา ได้นำไปใช้สาธารณะประโยชน์ให้กับชุมชน
ด้านนายธีระ นาคฉ่ำ หน.ฝ่ายสำนักบำรุงรักษาที่ 3 แม่ยม (อ.เมืองแพร่ สูงเม่น และเด่นชัย) ได้นำหลักฐานที่ดิน ราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานและจุดที่มีการตัดไม้สักหวงห้ามดังกล่าว มายืนยันกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่ากรมชลประทาน ดำเนินการตัดไม้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใด และไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ โดยได้มีการหารือร่วมกัน กับเทศบาลตำบลแม่จั๊วะและผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 สวรรค์ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ไม่ได้เชิญเข้าร่วมประชุม
นายธีระ กล่าวด้วยว่า ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมคลองชลประทานเหล่านี้เป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นต้นไม้ ที่บุกรุก ที่ดินของทางราชการ โดยขณะนี้ ได้รับงบประมาณเร่งด่วน เข้ามาทำงาน เก็บวัชพืช ในคลองส่งน้ำ แม่ยมด้านตะวันออกของแม่น้ำยม พบว่าผักตบชวาและต้นสัก ต้นยมหินและต้นสะเดา เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ จึงได้ทำการ ตัดโค่น ไม้ดังกล่าวออก ซึ่งเป็นการกระทำโดยชอบธรรม ของกรมชลประทานแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการตัดไม้ในที่ดินของทางราชการ รายการสร้างทางหลวงแผ่นดินทางหลวงจังหวัดทุกสายต้องขออนุญาต จากกรมป่าไม้ และให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เข้ามาตรวจวัด ตีตราเพื่อดำเนินการตัดเป็นการป้องกัน ไม่ให้ไม้เหล่านี้เข้าไปสู่ระบบ ไม้เถื่อน ทาง
ด้านนายธีระ ตอบว่าเป็นสิทธิ์ของกรมชลประทาน การเข้ามาตัดแล้วแจ้งให้กับสำนักงานราชพัสดุจังหวัดแพร่ เพียงพอแล้ว แต่ขณะนี้ที่ดำเนินการไป เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เร่งดำเนินการขุดลอกคลองชลประทาน จึงยังไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดหรือหน่วยงานใด
วันเดียวกัน นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ โดยการอำนวยการสั่งการของนายประสิทธิ์ ท่าช้าง ผอ.สจป.ที่ 3 สาขาแพร่ นายชาตรี สัทธรรมนุวงค์ ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าและนายเสน่ห์ แสนมูล ผอ.ศูนย์ป่าไม้แพร่ ได้สั่งการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับนายเสถียร อิสระเศรษฐพงศ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อำเภอเด่นชัย นายธีระ นาคฉ่ำ หัวหน้าฝ่าย สำนักบำรุงรักษาที่ 3 แม่ยม ตัวแทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จ.แพร่ กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแม่จั๊วะ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เด่นชัย และผู้ใหญ่บ้านบ้าน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีกลุ่มราษฎรร้องเรียนผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า มีการตัดไม้มีค่าข้างทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือเสียงทักท้วงของชาวบ้าน ต้นไม้มีค่าได้แก่ ไม้สักทอง และไม้ยมหิน ซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดแพร่ ถูกตัดไปกว่า 10 ต้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 มีรถบรรทุกติดตราเครื่องหมายหน่วยงานราชการสังกัดท้องถิ่นขนย้ายไม้ไปในหมู่บ้านแม่จั๊วะ ม.7 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฯ ปรากฎ ดังนี้
1. มีการตัดไม้ที่บริเวณคันคลองชลประทานบ้านแม่จั๊วะ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ฯ จริง พบแต่ตอไม้ชนิดสัก ประดู่ สะเดา ยมหิน คูณ รวมจำนวน 25 ตอ
2. พบมีการนำไม้ท่อนไปเก็บไว้ที่ศาลาเอนกประสงค์บ้านแม่จั๊วะ ม.3 จำนวน 13 ท่อน และนำไปเก็บไว้ที่ข้างวัดใหม่วงค์วรรณ หมู่ 5 ต.แม่จั๊วะ จำนวน 4 ท่อน 2 ชิ้น
3. บริเวณที่มีการตัดไม้บนคันคลองชลประทานดังกล่าว อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง (ใช้ในราชการกรมชลประทาน) ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 34657 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่
4. มอบให้เจ้าหน้าที่โครงการส่งนำ้และบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการตรวจสอบไม้ที่ตัดออกทางกรมชลประทานอ้างว่านำไปใช้สาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าตรวจสอบ ดังกล่าวพบว่าไม้ที่เหลือให้ตรวจสอบเป็นไม้ส่วนยอดของลำต้นส่วนจากโคลนถึงกลางลำต้นหายไปทั้งหมดและไม้ยมหินซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดที่ปลูกโดยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ของทางอำเภอเด่นชัยขณะนี้หาไม่พบซากไม้ที่ตัดออกชาวบ้านในตำบลแม่จั๊วะ สงสัยว่าเมื่อประชาชนตัดไม้ในที่ดินของตัวเองหรือหน่วยงานอื่นเช่นกรมทางหลวงตัดไม้ริมทางถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในการควบคุมการทำไม้เถื่อนแต่กรณีของกรมชลประทานกลับได้รับการยกเว้น จึงมีความสงสัยว่าประเทศไทยใช้กฎหมายเดียวกันหรือไม่