ดอกสาละบานแล้วที่กุสินารา

ดอกสาละ….เป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา ด้วยว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติที่สำคัญถึงสองกาล ก็คือ


กาลแห่งการประสูติ พระนางสิริมหามายาเทวี ทรงเหนี่ยวกิ่งสาละด้วยพระหัตถ์ขวาแล้วให้ประสูติพระกุมาร ณ ลุมพินีวันสถาน ปัจจุบันคือลุมพินี ในเขตประเทศเนปาล
ในกาลแห่งปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จเข้าสู่การดับขันธปรินิพพาน ระหว่างต้นสาละคู่ ณ สาลวโนทยาน อุทยานแห่งเจ้ามัลละกษัตริย์ กุสินารานคร

ในวันปรินิพพาน มหาปรินิพานสูตร กล่าวไว้ว่า…..กาลนั้นดอกสาละ…ออกดอกมิใช่กาล พุทธปรินิพพานนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนหก

ใน ปีพุทธศักรราช ๒๕๖๒ นี้ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่ดอกสาละบริเวณด้านหน้าสถูปปรินิพพาน เมืองกุสินารา โดยจะเริ่มออกดอกตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม จึงขอนำภาพถ่ายมาเพื่อทุกท่านได้ดูเป็นหลักฐานว่า กาลออกดอกสาละคือช่วงฤดูก่อนเดือนหกแน่นอน และสาละที่บ้านเรานำไปปลูกตามที่ต่าง ๆ เช่นที่วัดบวรนิเวศมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์นั้น ไม่ใช่สาละพันธฺุนี้ แต่เป็นต้น Big Cannon หรือต้นปืนโต ซึ่งจะออกดอกที่ลำต้น และออกดอกตลอดฤดูกาล ที่คนไทยเข้าใจว่าเป็นสาละลังกา ซึ่งไม่ใช่สาละที่กล่าวถึงในพุทธประวัติแต่ประการใด
ส่วนสาละที่เห็นนี้คือ Sal ตระกูล Shoria Robusta,C.F.Gaertn. เป็นไม้เนื้อแข็งตระกูลไม้เต็งไม้รังบ้านเรานั่นเอง ต้นสาละนี้เป็นสาละอินเดียและเป็นพันธุ์ไม้สำคัญในเวลาแห่งชาตกาลและพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน


ปัจจุบันป่าสาละ..พบได้เฉพาะทางรัฐอุตตประเทศ , รัฐพิหาร,รัฐอัสสัมของ อินเดีย และเขตเชิงเขาหิมาลัยของเนปาล..เท่านั้นจะไม่พบทั้่วไปในภาคอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย อยากให้ปรับความเข้าใจต้นสาละไม้มงคลของชาวพุทธให้ถูกต้องเพราะนี่คือข้อมูลตรงจากที่เฝ้าสังเกตุมานานเรื่องต้นไม้สาละอินเดียนี้

ท่านคมสรณ์ – พระะธรรมทูตอินเดีย
นำเรื่องดอกสาละ..เพื่อสาระแห่งความจริงเรื่องต้นสาละอีกครั้ง
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒

Cr: ศศิวัณย์ ศรีพรหม