อ.พบพระ – อ.วังเจ้า งุบงิบงบภัยแล้ง-น้ำท่วม หลักฐานผูกมัด ดั่งเชลยศึกในสงครามโควิด-19

การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในการขุดสระ ขุดลอก ของอำเภอพบพระ และอำเภอวังเจ้าจังหวัดตาก เมื่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เขต 6 พิษณุโลก ร่วมกับคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดตาก เข้าสุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างละเอียด ประกอบด้วยเอกสารและสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ปรากฎด้วยหลักฐาน พบว่ามีความบกพร่องหลายประการและถูกรายงานต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ปปท.ดำเนินตามขั้นตอนไต่สวนต่อไป

อำเภอพบพระ ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการขุดสระเก็บน้ำ ปี 2562 จำนวน 19 โครงการ งบประมาณ 21,048,000 บาท และปี 2563 จำนวน 12 โครงการ งบประมาณ 2,539,000 บาท

อำเภอวังเจ้า จำนวน 13 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 6,184,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกคลองและขุดสระเก็บน้ำ

สำหรับการตรวจสอบในครั้งนี้ ปปท.เขต 6 ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 5 โครงการ จากการตรวจสอบทางกายภาพ พบข้อสังเกต
(1) ไม่มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ

(2) จัดทำโครงการ
ในพื้นที่ส่วนบุคคล
(3) ขุดดินจากโครงการไปถมในพื้นที่ส่วนบุคคล

(4) มีการจัดจ้างผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา
ไม่มีอาชีพรับจ้างโดยตรงและไม่มีความพร้อม
(5) จัดทำโครงการไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่ระบุในสัญญาฯ
(6) สถานที่ตั้งโครงการไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน อาจนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิด
ความคุ้มค่า

ทั้งนี้ ปปท.เขต 6 จะสรุปรายงานต่อผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ท.และ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

การตรวจสอบเผยแพร่เอกสาร และบ่งชี้ความไม่ชอบมาพากลของสองหน่วยงานดังกล่าว ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนต่อภาพลักษณ์ภารกิจ “มหาดไทยใสสะอาด” ข้อสั่งการ ในปี 2560 ของกระทรวงมหาดไทย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับงานก่อสร้างของทางราชการ โดยให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่กำหนดให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีงานก่อสร้างทุกประเภท

ทั้งนี้อนุมานได้ว่า การที่มติ ครม.กำหนดไว้เช่นนั้น ดูเหมือนจะรู้เท่าทัน และเข้าใจว่าเป็นการป้องกันหน่วยงานของรัฐ”หมกเม็ด” ปกปิดการรับรู้ของสาธารณชนในโครงการก่อสร้างทั้งเรื่องงบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบุคคลธรรมดา ลักษณะงานและวิธีการ เพราะวิธี “เฉพาะเจาะจง” เรียกกันในวงการรับเหมาภาษารับงานหลวงทั่วไปว่า “ตกลงราคา”นับว่าหมูที่สุดทั้งหน่วยงานรัฐและผู้รับเหมา ที่ไม่มีใครมาวุ่นวายและสามารถตกลงเงื่อนไขกันอย่างง่ายดายว่าเท่าไหร่

บางโครงการ บางหน่วยงานอาจทำมึน แม้ว่าผิดระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง หากมีบางหน่วยชงเองกินเอง อาจใช้บุคคลธรรมดา หรือ นอมินี เป็น”สแตนอิน”ถูกยืมชื่อใส่ไว้โดยไม่ทำจริง ทำเป็น เพียงมีชื่อทำสัญญาเบิกจ่ายเงินงบประมาณเท่านั้นเอง

ปปท.เขต 6 ยังระบุอีกว่า หลักฐานเอกสารบางโครงการเป็นการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ในบริเวณพื้นที่ของบุคคลที่ใกล้ชิด ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ใช้งบประมาณราชการ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด

การขุดดินจากโครงการนำไปขายหรือถมที่ดินของเอกชน หรือว่าจะเป็นบริษัท หรือ พื้นที่ส่วนบุคคลไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งส่วนราชการทราบดี ซึ่งจะต้องนำไปถมในพื้นที่ดินต่อสาธารณประโยชน์และทางราชการเท่านั้น

การจัดจ้างผู้รับเหมาจ้างเป็นบุคคลธรรมดา ไม่มีอาชีพรับจ้างโดยตรง ซึ่งสัณนิษฐานว่า อาจเป็นพวกพ้องใกล้ชิด หรือนอมินีที่มีการหยิบยืม ชื่อมาใส่ไว้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง ขนาดความลึกของสระ และลำคลอง ให้ถูกตามมาตรฐานจะต้องมีวิศวกรรับรอง

อีกประการหนึ่งการจัดโครงการไม่เป็นไปตามรูปแบบของสัญญาจ้าง สรุปโดยรวม กล่าวคือ การขุดความกว้าง ยาว ลึก ไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา

ประการสำคัญ ปปท. เขต 6 ตรวจพบการขุดสระในพื้นที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ภายในป่าเขาเนินสูง มีความห่างไกลจากบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม โดยไม่ได้คำถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับ ราวกับว่าเพียงขอให้มีหลักฐานการขุดสระ และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณ อีกทั้งพื้นที่เหล่านี้ ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ เช่น ป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐหลายองค์กร อาทิ สตง.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.
ที่ทำหน้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณทางราชการ และระเบียบปฏิบัติของข้าราชการ รวมทั้งนักการเมือง และสุดท้ายมีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมอบ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสต่อสู้ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามข้อกล่าวหา

ดังนั้นอำเภอพบพระ และอำเภอวังเจ้า เมื่อผ่านพ้นการตรวจสอบ ปปท.เขต 6 จึงกำลังเดินทางเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ศอตช.อีกครั้งอย่างระทึก