“อาชีวศึกษา” สร้างฝีมือชนเป็นคนดีผู้นำต้านยาเสพติด
วันที่ 28 มีนาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ อาชีวศึกษาจังหวัดลำปาง สำนักงานเลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.ลำปาง และสาธารณสุขจังหวัดลำปาง จัดอบรมโครงการอบรมแผนปฏิบัติงานต้านยาเสพติดในสถานศึกษา และสร้างเครือข่ายผู้นำต้านยาเสพติด ระดับภาคเหนือ ภายใต้ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมรีเจนท์ ลอด์จ ลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
นายจีรพงษ์ แสงวนิช ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม ว่าที่พันตรีณรงค์ศักดิ์ นพคุณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเถิน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการต่อ ดร.วัชระ เกิดสิน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ เป็นประธานในพิธี โครงการดังกล่าว คือการมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด” การดำเนินงานตามแนวทางของแผนบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหายาเสพติดและภัยที่เกิดจากอบายมุขที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ที่มีการแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย การอบรมโครงการดังกล่าว เพื่อให้ผู้แทนสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาภาคเหนือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน 9 จังหวัด มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำนักเรียน นักศึกษา ในการต่อต้านและป้องกัน ติดตาม ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษานักเรียน นักศึกษากลุ่มบำบัดรักษาให้หันกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ เน้นบทบาทเพื่อนช่วยเพื่อน และหยุดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษาดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม และการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับจังหวัด
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการอบรม จากสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ สถานศึกษาของรัฐที่เข้าร่วม จำนวน 48 แห่ง สถานศึกษาเอกชน 32 แห่งสาธารณสุขจังหวัด 9 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง และน่าน
ภายในมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้นำต้านยาเสพติด โดยการเรียนรู้การใช้สื่อและการผลิตสื่อสร้างสรรค์ โดยอาศัยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อออนไลน์ด้วยมือถือ เรียนรู้การทำ Content Marketing แบบ Storytelling และการทำการตลาดในสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ของการอบรม ผู้อบรมทุกคนจะได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อผลิตผลงานคลิปวิดีทัศน์ผ่าน Smartphone เป็นสารคดี สารคดีเชิงข่าว หรือภาพยนตร์สั้น ความยาว 4 นาที ในประเด็นหัวข้อหัวข้อ “สร้างสื่อ สารพลัง ต้านยาเสพติดด้วยมือ (ถือ) เรา” ซึ่งความสำคัญที่สุดของการทำสื่อคือ การบริการสาธารณะ เพื่อร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง
ณัฐชญานันท์ ทองนิ่ม นักข่าวพลเมือง รายงาน