อุทยานแห่งชาตินันทบุรี จัดประชุมระดมกำลังป้องกันไฟป่าและหมอกควัน

สืบเนื่องจกตามนโยบายและข้อสั่งการ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ซึ่งสอดคล้องกับจังหวัดน่านที่ได้ออกประกาศเรื่อง การงดเว้นการเผาโดยเด็ดขาด การเฝ้าระวังและการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดน่าน (War Room)

วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่ห้องประชุมอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน นายรณกฤต จักร์เงิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินันทบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบอุทยานแห่งชาตินันทบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงได้มีการจัดประชุมวางแผนและกรอบแนวทางการปฎิบัติงานตามข้อสั่งการของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถึงมาตรการแนวทางการปฏิบัติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ใกล้เคียง ในความรับผิดชอบประมาณ สองแสนกว่าไร่ พร้อมรับมือกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่

โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี2562แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การจำแนกพื้นที่ตามระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น พื้นที่ความเสี่ยงสูง คือ บริเวณรอยต่อระหว่างป่าธรรมชาติกับพื้นที่ฟื้นฟู และพื้นที่ฟื้นฟูที่มีคนเข้ามาหาของป่า และ พื้นที่จะเป็นพื้นที่ความเสี่ยงน้อย ประกอบด้วย พื้นที่ป่าดิบชื้น
ส่วนที่ 2 การเตรียมความพร้อมใช้งานอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น ไม้ตบ คราด ถังน้ำสะพายหลังพร้อมสายฉีดสำหรับดับไฟป่า รวมถึงวิทยุสื่อสาร ก่อนใช้งานและเตรียมพร้อมสำหรับชุดลาดตระเวนหรือชุดเคลื่อนที่เร็ว

ชุดเคลื่อนที่เร็วของอุทยานฯนันทบุรี จะออกลาดตระเวนในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดไฟป่าในพื้นที่เฝ้าระวังทั้งพื้นที่เสี่ยงสูงและพื้นที่เสี่ยงน้อย รวมถึงพื้นที่รอยต่อใกล้เคียง เป็นประจำทุกวัน หากพบเห็นก็จะสามารถเข้าระงับเหตุเบื้องต้นได้ทันที สำหรับส่วนที่ 3 การดำเนินการกำจัดวัชพืชที่ปกคลุมและนำไปกำจัดนอกแนวปลูกป่า รวมถึงการทำแนวกันไฟป่า

ทั้งนี้นายรณกฤต จักร์เงิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินันทบุรี กล่าวว่าทางอุทยานฯนันทบุรี ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในตอนนี้ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงจึงให้ทุกหน่วยงานฯที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
1. ให้เพิ่มภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเรื่องการดับไฟป่า โดยให้ลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
2. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และบทลงโทษการกระทำผิดจุดไฟเผาป่า
3.ดำเนินการจัดทำจุดสกัด คัดกรอง ตามเส้นทางเข้าป่าที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
4. เมื่อเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายต่างๆเข้าดับไฟป่า และแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด

ทั้งนี้การปฏิบัติงานต้องมีความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิต และมีความห่วงใยในสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานกลางแจ้ง ได้กำชับหัวหน้าน่วยงานให้ทำความเข้าใจกับทุกคน เรื่องหมอกควัน การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่ต้องทำงานในที่โล่งแจ้ง และการสวมใส่อุปกรณ์หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ในส่วนของชุมชนพื้นที่รอบๆเขตอุทยานฯนันทบุรี ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันต่อไป.

ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน