อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เผยแนวทางการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์


วันที่ 25 ธันวาคม 2561 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบหมายให้นายบำรุง แสงพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (สาขาแม่สะเรียง) นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นายนาวี ศิลป์สุภากุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหล้า อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ บ้านพะโท ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าหารือร่วมประชุมกับชาวบ้านพะโท

โดยมีนายสุขใจ วิชญพันธ์ ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมบ้านพะโทในฐานะผู้นำชุมชนบ้านพะโท ร่วมหารือกับทางคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ถึงผลการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งพื้นที่บ้านพะโทแห่งนี้ เป็นพื้นที่นำร่องในการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ตามหลักการคนอยู่กับป่า และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ โดยการมีส่วนร่วมของราษฎรผู้อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รับผิดชอบดูแล ปกป้อง รักษา นั้นมีอยู่ประมาณ 80 ล้านไร่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งมักปัญหาการครอบครองที่ดินของราษฎรเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานตั้งแต่อดีต ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในการจัดการ และการบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่งผลกระทบต่อปัญหาของประเทศในภาพรวมทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นและเป็นไปตามกฎหมายได้ มีเพียงการแก้ไขปัญหาทางด้านการบริหาร โดยการออกมติคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ที่กำหนดให้ราษฎรที่ครอบครองที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ทำการตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดิน เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุกป่าเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด แต่ผลปรากฏว่าระยะเวลาต่อมา 20 ปีจนถึงปัจจุบัน

นอกจากจะไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรให้เสร็จสิ้นได้ อีกทั้งยังมีราษฎรเข้ามาครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายหลังเพิ่มเติมอีกเกือบเท่าตัว โดยไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับราษฎรดังกล่าวได้ ดังปรากฏตามข้อมูลภาพถ่ายออร์โธสีปี 2545 หรือ 2546 และภาพถ่ายดาวเทียมปี 2557 ทำให้ทราบว่ามีราษฎรครอบครองที่ดินก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวนประมาณ 3.6 ล้านไร่ และครอบครองภายหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวนประมาณ 2.3 ล้านไร่ รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 5.9 ล้านไร่ แม้ต่อมาภายหลังจะมีมติคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกหลายมติ จนถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจน ต่อราษฎรผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆ

ในวาระการปฏิรูปประเทศ ปัญหาการครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ จึงได้รับการพิจารณาตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ และถูกกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ จึงได้จัดทำ “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์” เพื่อใช้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ตามหลักการคนอยู่กับป่า และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยการมีส่วนร่วมของราษฎรผู้อาศัยในพื้นที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2561 เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อให้มีการสำรวจเตรียมความพร้อมของชุมชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ภายหลังที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. ได้รับการแก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบในหลักการตามแนวทางฯ ดังกล่าว

นับว่าเป็นการปฏิรูปในการแก้ไขปัญหาและการจัดการพื้นที่การครอบครองของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ที่มีการกำหนดมาตรการแนวทางและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สามารถอนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน
โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. หลักการจัดการพื้นที่ เพื่อให้คงเจตนารมณ์ของการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินมิให้เอกสารสิทธิ์
2. แนวทางการดำเนินการจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ (Zoning) เพื่อให้ได้ข้อตกลง “แนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในรูปแบบการประชาคมของชุมชน โดยมีคณะทำงาน/คณะกรรมการดำเนินการ 2 ระดับที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด คือ คณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดิน ระดับพื้นที่และคณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจการครอบครองที่ดิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์หรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขา

ในการสำรวจการครอบครองที่ดิน ให้แต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประกาศกำหนดให้ราษฎรของแต่ละชุมชน มาร่วมสำรวจแปลงและตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดินที่มีการครอบครองทุกรายในชุมชน ร่วมกับคณะทำงานฯ ในการบริหารจัดการพื้นที่ (Zoning) ให้คณะทำงานฯ นำผลการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มาตรวจสอบเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ แปลงใดที่อยู่ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ตรวจสอบผู้ครอบครองว่าเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ หากมีคุณสมบัติให้บริหารจัดการพื้นที่ ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติให้เจรจาออกจากพื้นที่หรือดำเนินการตามกฎหมาย แล้วทำการรวบรวมผลการตรวจสอบและการบริหารจัดการพื้นที่ ที่มีการกำหนดแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว เสนอให้คณะกรรมการฯ ระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์หรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขา พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ให้ได้ข้อยุติก่อนรายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาต่อไป

ดังนั้น เมื่อได้มีการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แล้ว จะสามารถกลั่นกรองราษฎรผู้มีคุณสมบัติ และได้มีการบริหารจัดการที่ดินที่มีความเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์กำหนดเป็น “เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” ที่มีขอบเขตที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยพื้นที่ที่เหลือจากการดำเนินการที่ได้มีการเจรจาเห็นชอบแล้ว จะนำมาฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป รวมทั้งราษฎรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ และที่สำคัญต้องร่วมดูแลรักษาป่าในพื้นที่ที่เหลือมิให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมอีกต่อไป