รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา จำนวน 516 ราย กลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
วันนี้ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พลเอกวัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมด้วยนายเมียวมินตาน เอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย คุณพิชิต หนุ่มสุด รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พลตำรวจตรีพงศ์อานันต์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 และพันตำรวจเอกพงษ์นคร นครสันติภาพ ผู้กำกับการกลุ่มงานความมั่นคง กองแผนงานกิจการพิเศษ สํานักงานยุทธศาสตร์ตํารวจ คุณจูเซปเป เดอวินเซนตีส ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยและ Mr.David John หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ องค์การระหว่างประเทศ
เพื่อโยกย้ายถิ่นฐานสำนักงานประเทศไทยเป็นผู้แทนหน่วยงาน ร่วมส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบ รวมจำนวน 516 ราย ซึ่งเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ โดยเฉพาะจาก 3 พื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ของจังหวัดตาก ประกอบด้วย พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ และพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยจะมีการทยอยส่งกลับ ซึ่งเริ่มวันนี้เป็นวันแรก
จากเหตุความไม่สงบในเมียนนา ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา มีผู้หนีภัยจากการสู้รบเดินทางข้ามแดนเข้ามาเพื่อขอที่พักพิงในประเทศไทย รัฐบาลไทยในขนาดนั้นยินดีที่จะให้การช่วยเหลือด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม จึงผ่อนปรนให้ผู้หนีภัยเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยจัดตั้งศูนย์พื้นที่พักพิงชั่วคราวต่างๆรวม 9 แห่ง 4 จังหวัดได้แก่แม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรีและกาญจนบุรี ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลไทยแต่เพียงผู้เดียวที่จะให้การช่วยเหลือผู้หนีภัยเหล่านี้ หากแต่เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิองค์กรระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่รวมตัวกันในนามกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นต้น
โดยจากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเพื่อนบ้านมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้นภายในเมียนมา ทั้งทางด้านความปรองดองในชาติและการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยในเมียนมา สร้างความหวังให้แก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ที่จะกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม ประกอบกับเห็นว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบมีความประสงค์เดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศและทางการไทยเริ่มต้นหารือถึงความเป็นไปได้ ที่จะสร้างกระบวนการช่วยเหลือผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงให้เดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมด้วยความสมัครใจจนนำไปสู่การส่งกลับในครั้งนี้ จำนวน 516 คน
ภาพ-ข่าว/ไพฑูรย์ สุขแว่น