ธนาคารออมสินภาค 7 ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นพลัส ประจำปี 2562
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 นายชาญชัย ฝอยทอง ผู้อำนวยการภาค 7 เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น Plus ประจำปี 2562” โดยมี ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และ ผศ.ดร.รัชนี เพ็ชร์ช้าง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ และมีพิธีมอบรางวัล Smart Startup by GSB Startup
ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา ที่เข้าร่วมแข่งขัน อีกทั้งยังมีการบรรยายพิเศษของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2562 และการให้ความรู้ทางการเงิน โดยคุณดำหลิ ตันเยี่ยน ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 7 เป็นวิทยากร ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากวิทยากร Startup ระดับประเทศ คุณอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง Business Development & Co-Founder AIRPORTELs Co.,Ltd. Talk Show ในหัวข้อ “แนวคิดเริ่มต้นในการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่”และปิดท้ายการจัดโครงการด้วยการนำเสนอโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นพลัส ประจำปี พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้นโครงการย่อย 7 ทีม ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา ณ ศูนย์การค้าศรีพงษ์พาร์ค จังหวัดอุตรดิตถ์
โดยโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นพลัส ประจำปี 2562” จะมีนักศึกษาและอาจารย์พี่เลี้ยงในการเขียนบัญชีรายรับรายจ่าย การพัฒนาการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาดการค้า พร้อมทั้งมีการจัดบูธแสดงผลงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 7 แห่ง และนำเสนอโครงการรายย่อยโดยนักศึกษาและกลุ่มวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่การบริการของธนาคารออมสินภาค 7 ซึ่งประกอบด้วย 1.วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโคกงามผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องอินทรีย์ 2.กลุ่มบ้านหนองแห้ว Style ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ 3.กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านด่านนาขาม บริการการท่องเที่ยวชุมชน 4.กลุ่มแม่บ้านโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวบ้านป่ายาง ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาร้าแจ่วบอง 5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 6.กลุ่มสัมมาชีพบ้านเกาะตาเพชร ผลิตภัณฑ์กระยาสารทงาดำ 7.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะม่วงบ้านหนองขุดหล่มสวนพลู ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะม่วง
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP ตามที่ธนาคารออมสินมีแผนการดำเนินงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” โดยบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงิน และศักยภาพการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นให้มีความมั่นคง และเกิดผลที่ยั่งยืน
ในขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะเกิดการเรียนรู้เข้าใจในวิถีชีวิตเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่า เพื่อจะช่วยยกการจรรโลงรักษาให้คู่สังคมไทยสืบต่อไป
ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน