เจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจร้านทองพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก สุ่มตัวอย่างตัวสอบคุณภาพ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 พลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มอบหมายให้นายสิรธีร์ พจน์จิราภรณ์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก นายวิบูลย์ จุติคีรีสวรรค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงค์ธรรม นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด และนายชัยรัตน์ วิเชียร รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านทองในพื้นที่อำเภอแม่สอด พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก และสคบ.จังหวัดตาก ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านทองในพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก จำนวนกว่า 20 ร้านค้า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2544) และ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2546) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตลอดจนสุ่มเก็บตัวอย่างทองรูปพรรณ โดยมีการเก็บตัวอย่างใส่ในกล่องพัสดุ พร้อมเซ็นลายชื่อเจ้าหน้าที่และเจ้าของร้านทอง รอบกล่องพัสดุ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยน เพื่อให้เจ้าของร้านทองนำไปทำการทดสอบมาตรฐานทองคำ ด้วยวิธีเอกซเรย์ ที่ว่าการอำเภอแม่สอด ในวันพรุ่งนี้
นายสิรธีร์ พจน์จิราภรณ์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก กล่าวว่าสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับอำเภอแม่สอด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดตาก ได้มีการลงพื้นที่ ตรวจสอบ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายทองรูปพรรณ สืบเนื่องจาก สคบ. ได้มีการจัดโครงการมอบตราสัญลักษณ์ ผู้ผลิตทองที่ได้มาตรฐาน ทั้งหมด 59 ราย เรามาทำการตรวจสอบว่าร้านจำหน่ายทอง ได้มีการรับทองจากผู้ผลิต ทั้ง 59 ราย มาจำหน่ายไว้หรือไม่ ปริมาณความบริสุทธิ์ทองได้มาตรฐาน ตามที่ สคบ.ได้กำหนดไว้หรือไม่
จากการลงพื้นที่อำเภอแม่สอด พบว่าส่วนใหญ่มีการทำฉลากสินค้า ถูกต้อง ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2544) และ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2546) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งจะต้องมีการจัดแสดงรายละเอียด ราคารับซื้อ เข้าขายออก ทองคำแท่ง ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ มีการแสดงรายการชื่อประเภทสินค้า สร้อยคอ แหวน กำไล ข้อมือต่างๆ แสดงความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ หลังหลอมละลาย น้ำหนักทอง สลึงหรือกรัม ราคาค่ากำเหน็จ หรือค่าแรง ว่ามีช่วงราคาอยู่ที่เท่าใด รวมถึงจะต้องมีการติดป้าย ร้านอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ให้ชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค
สคบ.จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างทอง เพื่อไปทดสอบโดยวิธีการเอกซเรย์ ว่าทองมีปริมาณทองบริสุทธิ์ถูกต้องไหม เป็นไปตามมาตรฐาน หากผลการเอกซเรย์พบว่าร้านใด มีเปอร์เซ็นต์ ความบริสุทธิ์ทองที่ต่ำกว่ามาตรฐาน คือต่ำกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ ทางสคบ.ก็จะให้ทางร้าน ส่งไปทดสอบที่สถาบันอัญมณี เพื่อทำการหลอมละลาย ว่าปริมาณความบริสุทธิ์ของทองเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องปราม ไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้หากผู้บริโภค เจอปัญหา หรือมีข้อร้องเรียนใดๆเกี่ยวกับการซื้อทองหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน คุ้มครองผู้บริโภค 1166
ภาพ-ข่าว/ไพฑูรย์ สุขแว่น