“ภัยแล้ง” วิกฤติแห่งไฟป่า พื้นที่รอบเขื่อนภูมิพล
โดย… สบเกษม แหงมงาม
ระยะนี้ ไฟไหม้ป่าแถบภาคเหนือเริ่มก่อเกิด เป็นวิกฤติประจำปีที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาทุกปีมาถึงกับกำหนดเป็นนโยบาย ปีนี้ทุกพื้นที่ห้ามมีไฟป่าอุบัติอย่างเด็ดขาด หากก่อเกิดพื้นที่ใด นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องรับผิดชอบ หากจะจุดไฟเผาป่าเพื่อการใด ต้องขออนุญาตมายังจังหวัดทุกครั้งนี้คือมาตรการที่กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการไปทั่วประเทศปีนี้
นายสุชีพ มีถม ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล สัญญาณดาวเทียมสามารถบันทึกภาพได้อย่างทันทีทันควัน โดยไม่ต้องรอรายงาน หรือเหตุการณ์ให้เป็นข่าว ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ไล่ล่าจุดที่เกิดไฟป่าขึ้น เท่านั้น แต่ก็ไม่วายมีมือดี อยากลองของ แอบจุด ไฟไหม้ลามไปทั้งผืนป่าในเขตหมู่บ้านตำบล ก่อปัญหาให้เจ้าหน้าที่รักษาป่า กำนันผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน ต้องช่วยกันแก้ไขไม่เว้นแต่ละวันบางพื้นที่ ไฟไหม้ลามกินเนื้อที่ ถึงเจ็ดร้อยกว่าไร่ บางพื้นที่สองพันกว่าไร่ เมื่อนับรวม ๆ กัน ก็เป็นหมื่นหรือหลายหมื่นไร่ขึ้นไป
ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวอีกว่า ในหลายพื้นที่ มันคือจุดอันตรายที่เพิ่มดีกรีความแห้งแล้งในเขตชนบทได้อย่างรุนแรงและน่ากลัวไฟไหม้ป่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ หากจะเกิดจากธรรมชาติ หินกระทบใส่กัน จนก่อเกิดประกายไฟ นับว่าน้อยมาก นั่นคือเรื่องราวในอดีตที่กำลังจะกลืนหายไปกับกาลเวลา แต่ไฟป่าที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ กลับลุกลามใหญ่โตยิ่งขึ้นทุกวันไฟไหม้ป่า เกิดด้วยสาเหตุหลาย ๆ ประการ ด้วยน้ำมือมนุษย์ดังต่อไปนี้
๑.การเผาป่าเพื่อแสวงหาที่ทำกิน น่าจะเป็นเรื่องราวธรรมดาของมนุษย์เดินดิน ด้วยกระแสวัตถุนิยมลุกลามเข้าไปในเขตชนบท การแสวงหาที่ดินทำกินเป็นความปรารถนาของมนุษย์ มีสิบไร่ไม่พอ ขอเพิ่มเป็นยี่สิบไร่ สามสิบไร่ บางคนเพิ่มนับร้อยไร่พันไร่ บรรยากาศแบบอดีต แบ่งที่แบ่งทางทำมาหากิน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่มีอีกต่อไป
นับวันจะกลับกลายเป็นฝันเกินฝัน วิธีที่มนุษย์ต้องกระทำก็คือ การทำลายธรรมชาติ แผ้วถางผืนป่าเข้าไปในเขตป่าสงวน เขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะผืนดินดังกล่าว เนื้อดินยังอุดม เหมาะสมที่จะทำมาหากิน วิธีแผ้วถางก็คือ การบุกรุกด้วยการเผาป่า เป็นวิธีการง่ายๆในลำดับต้น ๆ ดังนั้นบางพื้นที่ของประเทศไทย คดีบุกรุกจับกุมผู้ตัดไม้ทำลายป่า จึงก่อเกิดอย่างมากมาย
๒. การหาของป่า ของป่าคืออาชีพดั้งเดิมของคนชนบท เพราะวิถีแต่ดั้งเดิมคือเส้นทางแห่งความพอเพียง อยู่กินไปวัน ๆ พึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ใช่หากินเพื่อการสะสม ของป่ามีด้วยกันหลายประเภท เช่น ผักหวาน สะเดา ชะงู ใบลั่นเปราะ เห็ด รวมไปถึงผักป่าอื่น ๆ ที่มนุษย์กินได้หน้าแล้ง ผักหวาน ยอดสะเดา เป็นผักขายได้ เป็นอาหารจากธรรมชาติชั้นเลิศที่คนเมืองอยากลิ้มลอง คนข้างป่า จึงนิยมจุดไฟเผาลำต้น เพื่อให้ผักหวานหรือสะเดา ถูกไฟไหม้เกรียมเหมือนตายซาก พอฝนหลงฤดูเทลงมา สักห่าสองห่า กิ่งก้านจะปริยอดอ่อน ช่อเขียวชอุ่ม เหมาะที่จะเด็ดไปแกงกินหรือไม่ก็ส่งสู่ท้องตลาด
นายอรรนพ โหรวิชิต กล่าวว่า มหกรรมการเผาป่าหาผักหวาน จึงเป็นที่นิยมอย่างยิ่งของคนแถบภาคเหนือ การสอยรังมดแดง นี่ก็เป็นชนวนจุดไฟเผาป่าอีกเช่นกัน เพราะกรรมวิธีสอยรังมดแดง บางทีอาจจะใช้ควันรมเพื่อลดปริมาณของมดตัวเล็ก ๆ เลือกแต่ไข่สีขาวๆ เม็ดเล็ก ๆ อย่างกับเม็ดนมข้น เอาไว้ห่อหมกรังมดแดง หรือไม่ก็แกงส้มรังมดแดง จะทำต้มทำแกงได้สารพัด อาจจะมีสะเก็ดไฟหลงเหลือ เป็นเชื้อปลิวตามลม ถ้ามีใบไม้แห้ง หล่นเกลื่อนกล่นกลางผืนป่าเป็นเชื้อ มันก็พร้อมที่จะโหมฮือขึ้นอย่างน่ากลัว กระหน่ำแรงไปทั้งภูเขา
การตีรังผึ้ง หรือมิ้ม นี่ก็กรรมวิธีคล้าย ๆ กัน โอกาสก่อชนวน ไม่แพ้การสอยรังมดแดง การออกป่าล่าสัตว์ จุดไฟเผา เพื่อไล่สัตว์ออกมาจากป่า ไม่ว่า กระต่าย อีเห็น หรือ ตะกวด เป็นที่นิยมของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง น่าจะคล้าย ๆ กับการส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เพื่อให้สัตว์ป่าเกิดความตื่นกลัว หนีกระเจิดกระเจิงออกมาอย่างตื่นตกใจ ไฟให้ความร้ายแรง เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว มันจึงเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ออกป่าล่าสัตว์
“หมู่บ้านแถวชายป่า โดยเฉพาะเขตป่าสงวน ยืนยันว่า นี่คือปัญหาลำดับต้น ๆ ของการจุดไฟเผาป่า เพราะพวกชอบออกป่าล่าสัตว์ นิยมที่จะใช้ฤดูแล้ง เป็นฤดูแห่งการไล่ล่าหาสัตว์ป่ามาทำอาหาร หรือล่าเอาเนื้อไปขายให้คนเมือง ร้านอาหารที่มีอยู่อย่างดาษดื่น นี่คือสาเหตุหลัก ๆ การเพิ่มวิกฤติความแห้งแล้ง ของผู้คนในพื้นที่รอบข้างเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา ดังนั้น ยามนี้ ท้องฟ้ากลางวัน แดดจัด ๆ หากมองเข้าไปในท้องนาฟ้ากว้าง หรือท้องน้ำทะเลสาปปกว้างใหญ่ จะมองเห็นเหมือนมีหมอกบาง ๆ คลี่คลุม คล้ายหมอกหนาวยามเช้า บางคนหลงเข้าใจว่า ที่นี่ถูกห่มด้วยความหนาวเหน็บตลอดทั้งวัน แท้จริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะมันคือหมอกควันห่มคลุมลงมานั่นเอง นั่นคือปัญหาตามทุ่งไร่ปลายนา ที่รัฐบาลกำลังเร่งระดมการแก้ไข และกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้นายอำเภอ เน้นให้มีอาสาสมัครรักษาป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลที่จะต้องคอยดูแลปกป้อง รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชุมชนไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ป่าคือชีวิต ป่าคือลมหายใจมนุษย์ ” นายอรร นพ กล่าวและว่า
ตราบใดที่รัฐบาล ยังต้านกระแสวัตถุนิยมไม่อยู่ ยังหลงใหลได้ปลื้มกับวิทยาการสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ไหลเข้ามาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ตราบนั้น การรณรงค์ให้มนุษย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คงเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขา
โลกจะร้อนขึ้น ความร้อนรนในจิตใจของมนุษย์ คือชนวนให้เกิดการจุดไฟเผาป่าอย่างแน่นอน หาใช่เกิดจากสิ่งใดไม่ !!…
วิกฤตแห่งไฟป่า