มช. ลงนามความร่วมมือ ต่อยอดงานวิจัยพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ 

ผช.ดร. วินิตา บุณโยดม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ระยะที่ 2 ช่วงทดสอบตลาด “การผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์” 

เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประเภทเกรดทางการแพทย์ ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบชีวมวล เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง นำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และเครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม 

โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จดสิทธิบัตรต่างประเทศเรียบร้อยแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ขณะนี้ห้องปฏิบัติการได้ผลิตและจำหน่ายทางการค้าโดยใช้แผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันคณะผู้วิจัยห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ ร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็น ไหมเย็บแผลละลายได้ชนิดเส้นเดี่ยว ดำเนินการติดเข็ม ฆ่าเชื้อ บรรจุภัณฑ์ พร้อมใช้ ซึ่งไหมเย็บแผลละลายได้นี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส 

โดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง ทั้งนี้เมื่อโครงการนี้สำเร็จสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100%