พิษณุโลก หน่วยบินฝนเทียมปฏิบัติการภาคเหนือไม่แตกต่างฝนธรรมชาติ สารยูเรียส่วนประกอบสารเคมีแค่เชื้อกระตุ้น ไม่มีผลทำให้พืชโตเร็ว


วันที่ 26 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ได้ติดตามเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก พร้อมนำทหารกองทัพภาคที่ 3 ช่วยขนสารเคมีทำฝนเทียมขึ้นเครื่องบินจำนวน 3 ลำ

ในภาวะฝนทิ้งช่วงกำลังบรรเทาลง หลังจากหน่วยฝนหลวงสามารถขึ้นบินปฎิบัติการได้ เนื่องจากพอมีความชื้นและเมฆเพียงพอที่จะนำสารเคมีขึ้นไปเลี้ยงก้อนเมฆและกระตุ้นให้ฝนตกเร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อทำฝนเทียมในเขตรอยต่อพิจิตรกำแพงเพชร เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมพบเมฆก้อนใหญ่และมีความชื้น ผลทำให้เกิดฝนตกได้

พลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า กองทัพภาคทั่ 3  จะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อแก้ไขภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ปัจจุบันพบว่า มีน้ำอยู่เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทหารพร้อมสนับสนุนการทำฝนหลวง โดยส่งกำลังพลไปช่วยขนสารเคมีขึ้นเครื่องตามหน่วยบินฝนหลวงในภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.พิษณุโลก และ 1 สิงหาคมนี้ จะเปิดฐานบินฝนหลวงใหม่ที่จังหวัดแพร่

การทำฝนหลวงต้องใช้สารปริมาณมาก ทั้งเกลือแกง, ยูเรีย, น้ำแข็งแห้ง จากนั้น ก่อนจะขึ้นบินก็ต้องดูความเหมาะสมสภาพอากาศก่อนว่า มีความชื้นเพียงพอหรือไม่ ก้อนเมฆเป็นอย่างไร ก่อนนำเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆเพื่อเลี้ยงให้อ้วนและทำให้ฝนตก ขอให้คนไทยทุกคนมั่นใจ ทหารทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมจะทำให้ฝนตกเหนือเขื่อน มีน้ำใช้ทั้งปี ยืนยันว่า จะทำฝนหลวงต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูฝน

นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า อุปสรรคในการทำฝนหลวงในฤดูฝน คือลมชั้นบนกำลังแรง จะคำนวณทิศทางลมให้เหมาะสมว่าฝนจะตกบริเวณใด สำหรับฝนที่ตกลงมาช่วงนี้ ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวล เนื่องจาก”ฝนเทียม”กับ”ฝนธรรมชาติ” ไม่แตกต่างกัน


“หลักง่ายๆ แทนที่ เราจะรอให้ฝนตกเอง เราก็เอาสารเคมีที่เลียนแบบธรรมชาตินี่แหละ ซึ่งธรรมชาติจริงๆ ก็คือ ไอเกลือ ถ้าความชื้นมีมากพอ เราก็ให้เกลือโซเดียมคลอไลด์ เข้าไปกระตุ้นให้ เมฆให้เกิดฝนเร็วขึ้น แทนที่จะรอเวลา อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณฝนให้ตกมากขึ้นอีก


“การตกของฝน แยกไม่ออก ระหว่างฝนธรรมชาติกับฝนเทียม เพราะคุณภาพน้ำฝน ไม่แตกต่างกัน เรามีการเก็บตัวอย่าง เอาไปวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ เพื่อดูว่า คุณภาพ น้ำฝนที่ทำ แตกต่างจากฝนธรรมชาติอย่างไร สรุปก็คือ ไม่แตกต่างกัน สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ เพียงแต่ต้องต้มให้สุกก่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนแบบไหน” ผอ.ฝนหลวง ระบุ
ส่วนสาร”ยูเรีย”หรือ ปุ๋ย 46-0-0 (N – P- K)ถือเป็นส่วนประกอบในการทำฝนเทียมนั้น

พบว่ามีเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนทั้งก้อนเมฆ ผลวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ไม่แตกต่างกัน สารยูเรียเป็นเพียงแค่เชื้อไปกระตุ้นเท่านั้น และสารยูเรียก็ไม่ได้ทำให้ต้นไม้ เจริญงอกงามเพราะฝนเทียม เนื่องจากตามธรรมชาติ ก็มีสารไนโนเจน (N)อยู่แล้ว สรุปว่า การทำฝนเทียม ก็คือ การกระตุ้นให้ฝนตกเร็วขึ้น และทำให้ฝนตกในปริมาณหนาขึ้นเท่านั้น