พระราชปณิธาน ร.10 ‘เลอตอ’

โครงการหลวงแห่งใหม่ พลิกฟื้นชีวิตชาวเขาปกากะญอ พระราชปณิธาน ร.10 ‘เลอตอ’ โครงการหลวงแห่งใหม่ พลิกฟื้นชีวิตชาวเขาปกากะญอ

จากน้ำพระราชหฤทัย สู่สายธารหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทยภูเขาบนพื้นที่ดอยสูง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ตามแนวทางพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ก่อตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งใหม่ ลำดับที่ 35” คือ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ”อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย

โอกาสนี้ ประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดีด้วยหัวใจ” ในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร เด็กนักเรียน เยาวชน และผู้เฒ่าผู้แก่ รวม 200 คน ได้ร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน บริเวณศูนย์พัฒนาฯ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562

นอกจากนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ยังมีความประสงค์ที่จะพัฒนา “ปัจจัยพื้นฐาน” ในชุมชนดังกล่าว อาทิ ถนน ไฟฟ้า น้ำ จัดทำแปลงปลูกพืชในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรม ชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานจังหวัดตาก ผลักดันให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอเป็น “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแห่งแรกของจังหวัดตาก”

 

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่งานโครงการหลวง และดำเนินการสนองพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับสภาพพื้นที่ในความดูแลของศูนย์พัฒนา ฯ ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าปกากะญอ 6 หมู่บ้าน จำนวน 1,111 ครัวเรือน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และราษฎรยากจน ถือครองพื้นที่ทำกิน สืบทอดจากบรรพบุรุษ และดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นและบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด เส้นทางสู่โครงการหลวงเลอตอแปลงปลูกผัก

สมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เล่าว่า แต่เดิม อ.แม่ระมาด เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นมากเป็น “อันดับ 1” ในประเทศไทย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2559 มูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มเข้าดำเนินงานพัฒนาชุมชนบ้านเลอตอ โดยใช้ประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่สูงตลอดระยะเวลา 50 ปี (พ.ศ.2512-2562) ของโครงการหลวงมาปรับใช้ เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับทราบข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ โดยยึดหลักสำคัญคือ “ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า ทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้ทั้งสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน”

“ปัญหาแรกที่พบคือการสื่อสารกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่นี่เป็นชนเผ่าปกากะญอ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน” หัวหน้าศูนย์เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

และแม้การบุกเบิกพัฒนาโครงการหลวงเลอตอจะยากลำบาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามพระราชประสงค์และพระราชปณิธาน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี สภาพพื้นที่ที่เป็นไร่ฝิ่นและไร่เลื่อนลอย เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นแปลงผัก ผลไม้เขตหนาว เกษตรกรเริ่มเข้าใจและเกิดจิตสำนึกในการฟื้นฟูอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า

“ถ้าให้ปลูกป่าดูแลป่าอย่างเดียวคงไม่มีใครดูแล จึงคิดว่าน่าจะฟื้นสภาพป่าตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือให้ชาวบ้านปลูกเกาลัดจีน แมคคาเดเมีย สามารถเก็บไปขายได้ ไฟไม่ไหม้แน่นอน ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่กินอยู่แบบพอเพียง รักษาป่า ดูแลป่า” สมชายกล่าว

สบเกษม แหงมงาม รายงาน