พิษณุโลก ตำบลไผ่ขอดอน หล่อเทียนรับเทศกาลวันเข้าพรรษาสืบสานประเพณีไทย
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๖๒ เวลา ๑๖.๐๐ น.พระครูพิพัฒน์ สุวรรณประดิษฐ์เจ้าอาวาสวัดสุวรรณประดิษฐ์ ตำบลไผ่ขอดอน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกประธานฝ่ายสงฆ์ จัดโครงการส่งเสริมประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา นายสมาน นวนเกิด กำนันตำบลไผ่ขอดอน ประธานฝ่ายฆราวาส นายประเชิญ สุขเกษม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขอดอน คณะครูโรงเรียนชุมชนที่ ๑๑ วัดสุวรรณประดิษฐ์ ตำบลไผ่ขอดอน พร้อมผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และพุทธศาสนิกชน
ทั้งนี้ เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีทางพระพุทธศาสนา โดยหล่อเทียนจำนวน ๙ เล่ม เพื่อนำไปถวายให้กับวัดในชุมชนช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ณ.วัดในท้องถิ่น.ได้แก่ วัดสุวรรณประดิษฐ์ วัดหลวงพ่อแดง และ วัดเกาะกลางตลุง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณประดิษฐ์ และชาวบ้านตำบลไผ่ขอดอนเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงสืบทอดต่อไป
การหล่อเทียนพรรษา เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีหล่อเทียนจัดเป็นพระราชกุศลและเป็นงานบุญทั่วไปของชาวบ้าน อีกด้วย โดยกำหนดจัดงานราชพิธีหล่อเทียนขึ้นในเดือน ๘ ของทุกปี ก่อนเข้าพรรษา สมัยนั้นการหล่อเทียนใช้หล่อด้วยขี้ผึ้งทั้งสิ้น ในปีหนึ่งๆ จะใช้ขี้ผึ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาวัดต่าง ๆ ที่เป็นวัดหลวงทุกวัดจะได้รับพระราชทานเทียนพรรษา วัดละ ๑ เล่ม หรือมากกว่านั้นทุก ๆ วัด จำนวนเทียนที่หล่อจึงมีมากขึ้น
กล่าวกันว่า ประมาณปลายรัชกาลที่ ๓ ต้องหล่อเทียน จำนวน ถึง ๒๐๐ เล่ม จึงจะมีจำนวนมากพอที่จะนำไปถวายวัดต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการหล่อเทียนแต่ละเล่มสมัยนั้น ต้องใช้ขี้ผึ้งในการหล่อเทียนหนักถึง ๑๖ ชั่ง ปีหนึ่ง ๆ จะใช้ขี้ผึ้งจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่หล่อเทียนทางสำนักพระราชวังจะบอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เจ้าภาษี นายอากร และขุนนางฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น ให้นำขี้ผึ้งมาช่วยกันหล่อเทียนจึงสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ต้องมีการหล่อเทียนนั้น
เนื่องมาจากในฤดูฝนหรือที่เรียกกันว่า “ฤดูการเข้าพรรษา” คือ ช่วงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น กำหนดให้พระภิกษุทั้งหลายต้องเข้าอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา ๓ เดือน พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอยู่จำพรรษาในพระอารามระหว่างนั้น มีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ มีความจำเป็นต้องใช้เทียนไว้สำหรับจุดบูชาให้ตลอดพรรษพุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ได้จุดบูชาตลอด ๓ เดือนของกำหนดเวลาเข้าพรรษา จึงเรียกเทียนที่หล่อขึ้นนี้ว่า “เทียนพรรษา” หรือ “เทียนจำนำพรรษา”
การถวายเทียนพรรษาเป็นกุศลอย่างหนึ่งของการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาสว่างไสว พิธีหล่อเทียนเริ่มก่อนการเข้าพรรษาเล็กน้อย
การตระเตรียมงานพิธีหล่อเทียนในชุมชนนั้น จะเริ่มขึ้นประมาณวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๑ สัปดาห์ เมื่อหล่อเทียนในวันรุ่งขึ้นจะจัดขบวนแห่นำไปถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งเพื่อเป็นพุทธบูชา และในวันนั้นมีการทำบุญ ร่วมกัน ตักบาตรถวายพระภิกษุสงฆ์ แสดงความศรัทธา โดยพร้อมเพรียงกัน งานทำบุญหล่อเทียนและถวายเทียนพรรษานับเป็นประเพณีที่ดีงามสมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้ช่วยกัน รักษาประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน
อานิสงส์ของการหล่อเทียนหรือถวายเทียนพรรษา แก่พระภิกษุนั้น เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน หรืออานิสงส์โดยย่อ คือ
๑. ทำให้เกิดปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
๒. ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ
๓. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี
๔. เจริญไปด้วยมิตรบริวาร
๕. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
๖. เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
๗. เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
๘. หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน
จารุพร อาภาภิวัฒน์ ข่าว/ภาพ