1. “ไกรฤกษ์” 3 ชั่วอายุคน รับใช้ชาวพิษณุโลก “ปู่-พ่อ-ลูก” ตระกูลแรกนั่งในสภาฯ

ตระกูล “ไกรฤกษ์” รับใช้ชาวพิษณุโลก 3 ชั่วอายุคน และนับว่าเป็นตระกูลแรกของสภาผู้แทนราษฎรที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ชั่วอายุคน คือ ปู่-พ่อ-ลูก “ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ -โกศล ไกรฤกษ์ -จุติ ไกรฤกษ์”


นอกจากนั้น “นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์” พี่สาวนายจุติ ยังได้รับความไว้วางใจจากชาวจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการเลือกตั้ง ปี 2549,2551,2557 และนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา ในระหว่างปี 2551 – 2557 ปัจจุบันได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.และนับว่าเป็นเกียรติกับชาวพิษณุโลก ในฐานะเป็นผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม

“ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์” จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า “จปร.” ในปี 2465 จบแล้วรับราชการทหารจังหวัดนครราชสีมา และปี 2469 สอบไล่ผ่านโรงเรียนเสนาธิการ ได้เป็นอันดับที่ 2 ต่อมาย้ายมารับตำแหน่งเสนาธิการมณฑลทหารบกจังหวัดพิษณุโลก (กองทัพที่ 3) นับว่าเป็นบุคคลที่ “ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ” “ไม่ทรยศนาย ไม่ขายเพื่อน”ยึดมั่นในอุดมการณ์เกิดมาเพื่อรับใช้แผ่นดินและพระราชวงศ์

จึงเข้าร่วมกับคณะ “กู้บ้านเมือง” อีกทั้งเคยเป็นนายทหารประจำพระองค์พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ที่ได้นำทหารจากหัวเมืองหลายจังหวัด รวมทั้ง ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ยกกำลังไปจากจังหวัดพิษณุโลก ผู้ก่อการเข้ายึดพื้นที่ดอนเมือง แต่การเจรจากับ“คณะราษฎร”ไม่เป็นผลเกิดการปะทะกัน และคณะกู้บ้านเมือง เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงอันเป็นที่มาของ “กบฎบวรเดช”

พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม เป็นพระโอรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ (ต้นสกุลกฤดากร) พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ภายหลังจากผ่านพ้นคดีการเมืองนาน 11 ปี “บางขวาง-ตะรุเตา-เกาะเต่า” “ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์”กลับมาลงสมัคร ส.ส.พิษณุโลก พื้นที่ที่เคยรับราชการทหารมาก่อน และได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนท่วมท้น เพราะมีกลยุทธ์การหาเสียงล้ำลึก สามารถนั่งอยู่ในหัวใจของราษฎร เน้นการปราศรัย เคาะประตูบ้าน และมีฉายาทางการเมืองว่า “จงกล ควายเก่า” เพราะอาสาเข้ารับใช้ราษฎรทุกถิ่นฐานคลุกคลีกับประชาชนชนิดที่เรียกว่า “ติดดิน”

เคยเป็นนายทหารม้า จึงได้เปรียบผู้สมัครคนอื่นๆ โดยการขี่ม้าหาเสียงสามารถไปทุกหัวระแหงในถิ่นทุรกันดาร อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ บางพื้นที่ผู้สมัคร ส.ส.คนอื่นๆไม่สามารถเข้าถึงเลย

“ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ”มีคติประจำใจ “พึงถนอมเกียรติ” ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.พิษณุโลก 3 สมัย คือ ปี 2491, 2495, 2500 และได้รับเกียรติจากเพื่อน ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญ ได้เขียนไว้ให้ ส.ส.นั่งเก้าอี้เพียงได้แค่รองประธานสภาฯ นับว่าเป็น ส.ส.ที่พึ่งทางใจ ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และเป็นผู้บุกเบิกเปิดเส้นทางสู่อำเภอนครไทย อีกด้วย

“ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ “เคยเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม โดยเฉพาะผลงานด้านวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง “ตัวตาย แต่ชื่อยัง” “ชีวิตนักการเมืองไทย” โดยใช้นามปากกา “เสาวรักษ์” และนามปากกา ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ “อยู่อย่างเสือ” “ศิลปเลือกตั้ง” ประการสำคัญเป็นผู้ประพันธ์บทเพลง “พิษณุโลกงาม” ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง และขับร้องโดย “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวพิษณุโลก และบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อปี 2492 ปัจจุบันเพลง “พิษณุโลกงาม”ยังได้รับความนิยมจากชาวพิษณุโลก ที่ได้นำมาขับร้องกันหลายเวอร์ชั่น

“โกศล ไกรฤกษ์” ฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้คือ “นักเลงโบราณ” สไตล์ดุดัน เสียงดังฟังชัด “พูดจริง ไม่ต้องจำ” บุคคลที่ไม่คุ้นเคยรับฟังแล้ว “โผงผาง” แต่ต่อสู้เป็นปากเป็นเสียงรับเรื่องราวร้องทุกข์แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สมบทบาทสามารถเรียกได้เต็มปากว่า “ผู้แทน” ของราษฎรอย่างแท้จริง

“โกศล ไกรฤกษ์” ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก 5 สมัย ปี 2512, 2519 2522, 2526 , 2531 และในปี 2512 ได้รับความไว้วางจากเพื่อน ส.ส.ให้นั่งเก้าอี้ “หัวหน้าพรรคอิสระ”มีลูกพรรค 17 คน อาทิ นายบุญเลิศ ชินวัตร นายอนันต์ ฉายแสง นายสมพล เกยุราพันธ์ นายบุญธรรม ชุมดวง เป็นต้น

ต่อมาได้รับความไว้วางใจจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจสังคม และเคยรั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชากรไทย สมัยนายสมัคร สุนทรเวช นั่งหัวหน้าพรรคอีกด้วย

ตำแหน่งสำคัญในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ต่อมานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“โกศล ไกรฤกษ์” นับว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการปิดตำนาน“ทุ่งสาน”ที่เคยสะเทือนเลื่อนลั่นไปด้วยกลิ่นคาวเลือดและน้ำตา จึงต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับราษฎรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของราชการบางคนที่แสวงหาประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินทำกินบริเวณ“นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน” อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จนสงบราบคาบลง

เพราะความเอาใจใส่ปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจัง “ถึงลูกถึงคน”โดยใช้ความเป็นธรรมนำหน้า อีกทั้งยังได้นำชาวทุ่งสานเข้ากรุงเทพมหานคร ยื่นหนังสือต่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะนั้น เพื่อขอความเป็นธรรมในการจัดที่ดินทำกิน

ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่สมัยพล.อ.ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมาสำเร็จเสร็จสิ้นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนให้กลับคืนสู่ความสงบร่มเย็นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ในช่วงที่ดำรงดำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ ให้ทันสมัยขึ้นในยุคนั้น

ขณะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ผ่าตัดวางโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ “การประปานครหลวง” จากขาดทุนสู่การสร้างรายได้และมีกำไร มีการขยายเขตบริการนํ้าประปาคุณภาพ โดยแต่งตั้ง ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง และปฏิรูปการบริหารแบบใหม่เป็นรากฐานมาจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุกเบิกริเริ่ม “สร้างนักขาย” แต่งตั้งทูตพาณิชย์ ของกระทรวงพาณิชย์ ส่งไปประจำยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานการส่งออกของประเทศตั้งแต่ยุคนั้น และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถทุบสถิติการส่งข้าวออกไปต่างประเทศสูงสุดในขณะนั้น

บุคคลที่ใกล้ชิดเคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่าน “โกศล ไกรฤกษ์”พกเอาความหวังเดินทางไปเจรจาขายข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ให้กับประเทศเกาหลี ในที่ประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ของเกาหลี อ้างว่าไม่มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจากไทย โดยหยิบยกเหตุผลต่างๆมาปฏิเสธ และเป็นธรรมเนียมของการเจรจาที่ต้องมีการเลี้ยงรับรอง นักเลงโบราณจากพิษณุโลก ด้วยความเป็นบุคคลที่มีไหวพริบปฏิภาณอันเฉียบคม ได้กล่าวว่า “เกาหลีและไทยเป็นเพื่อนกันมานานประเทศไทยยากจนกว่าต้องขอความช่วยเหลือจากเกาหลีที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เกาหลีจะช่วยเหลือประเทศไทยโดยการให้เงิน แต่คนไทยด้วยความยากจนก็ช่วยเพื่อนได้ โดยเอาเลือดเอาเนื้อ หรือแม้แต่ชีวิตเข้าแลกโดยยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่ทหารไทย เคยเดินทางไปร่วมรบสงครามในสมรภูมิเกาหลี”

รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลี มีอดีตเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกนั่งฟังอยู่ถึงกับสะอึก น้ำตาคลอ ซึ่งผลจากการพูดคุยกันในคืนนั้น เกาหลีรับปากจะสั่งซื้อข้าวจากไทย 300,000 ตันพร้อมกับมันสำปะหลังและข้าวโพด อีกจำนวนหนึ่ง

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.ได้มีมติให้ “จุติ ไกรฤกษ์”นั่งในตำแหน่งเสนาบดี หรือ เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับว่าเป็นเกียรติภูมิของชาวพิษณุโลกอีกครั้งหนึ่ง ในอันที่จะเข้ามาดูแลทุกข์สุขของผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และสตรี ตลอดจนผู้พิการ รวมทั้งผู้ยากไร้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “จุติ ไกรฤกษ์” เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเรียกกันย่อๆว่า “ไอซีที” ( ICT ) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

“จุติ ไกรฤกษ์” ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารชั้นนำ “ซีไอโอ เวิลด์แอนด์บิสสิเนส” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง “ไอซีที” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า “ตัวผมเองนั้น ไม่ได้เป็นคนดีอะไรมากหรอก แต่ผมโชคดีที่พ่อผมทิ้งอะไรไว้ให้ ทำให้ไม่ต้องลำบาก ดังนั้น แค่เพียงรักษาเกียรติยศของพ่อและวงศ์ตระกูลเอาไว้ ไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องทุจริตหรือคอรัปชั่น”

ผลงานที่โดดเด่นในระยะเวลา 1 ปี บนเก้าอี้รัฐมนตรี “ไอซีที”ทำให้ประเทศไทย มีระบบการสื่อสารสามารถมายืนเทียบเคียงระนาบเดียวกันกับอารยะประเทศ นั่นคือ ระบบ 3 G เกิดขึ้นยุครัฐมนตรีชื่อ “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง นอกเหนือจากการพัฒนาด้านอื่นๆแล้ว และจัดทำแผนบรอดแบนด์แห่งชาติ สำเร็จเป็นรากฐานที่สำคัญรองรับเทคโนโลยีการสื่อสาร 4G 5G ตราบจนทุกวันนี้

การจัดตั้งองค์กรมหาชน 2 แห่ง คือ ระบบ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ)
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Government

E-Commerce มีชื่อว่า Electronic Commerce (อิเล็กทรอนิกส์’คอมเมิร์ซ) หรือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง  การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต การโฆษณาสินค้า การโอนเงิน การซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณาเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร โดยการลดบทบาทองค์ประกอบทางธุรกิจลง เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคาร โกดังสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า จึงลดข้อจำกัดระยะทาง และเวลา จุดเด่นประหยัดค่าใช้จ่าย และการแลกเปลี่ยนสินค้าสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง

E-Government หรือ
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คือ วิธีการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่าย สื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐ ปรับปรุงการบริการแก่ประชาชน การบริการด้านข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนมีความใกล้ชิดกับภาครัฐ การให้บริการของภาครัฐผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการของภาครัฐ เสริมสร้างความโปร่งใสของการดำเนินงานของภาครัฐ

อีกด้านหนึ่ง “จุติ ไกรฤกษ์” ขยาย “ศูนย์ไอซีทีชุมชน” กระจายให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทได้เข้าถึงการศึกษาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทุกมิติทุกจังหวัด มากกว่า 1,000 แห่ง

ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลได้จัดตั้ง “cyberscout” คือ ลูกเสือไซเบอร์ เพื่อต่อสู้กับการโจมตีสถาบันสำคัญของประเทศ Fake news และพิษภัยจากโลกออนไลน์ เพราะข้อมูลในโลกออนไลน์ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วนผลงานที่ฝากไว้ให้กับชาว พิษณุโลก คือ “ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก” ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก นับว่าเป็นระบบ “โลจิสติกส์” ที่มีความสำคัญต่อการขนส่งพัสดุภัณฑ์ “จุติ ไกรฤกษ์” ได้รับความไว้วางใจจากชาวจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 สมัย คือ 2531, 2538, 2539, 2544, 2550, 2554 ,2562

การย่างก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “จุติ ไกรฤกษ์” ส.ส.คุณภาพของชาวจังหวัดพิษณุโลก “สปอตไลท์” ฉายส่องและโฟกัสในทันทีกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงถูกจับตามองอย่างระทึก

กร บ้านกร่าง /รายงาน