…จาก..“เรือนแพ”…ถึง..“น้ำเน่า”ในลำน้ำน่านเมืองสองแคว คงเคว้งคว้างอยู่ริมฝั่งฝัน

หากการเอื้อนเอ่ยคำขวัญจังหวัดพิษณุโลก ในยามนี้ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากกล่าวคำว่า “พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือน หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา”

คำขวัญจังหวัดพิษณุโลก ชนะเลิศการประกวด ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกออกหนังสือขอให้ไปรับรางวัลในวันที่ 24 กรกฎาคม 2530 จึงทำให้ส่วนราชการ และภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สมาคม ชมรม สโมสร มักถูกนำมาใช้ตามลำดับ ในการบรรยายสรุป กล่าวต้อนรับ วีดีทัศน์ พรีเซนเตชั่น หนังสือที่ระลึก โบรชัวร์ เป็นต้น

ปัจจุบันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้ผู้คนทั่วไปเกิดความเหนียมอายกระไรนั่น เพราะ “สองฝั่ง –ไร้–เรือนแพ” ที่เป็นเอกลักษณ์และมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีคุณค่าด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงมีกระแสเรียกร้องโหยหา บุคคลในทุกระดับบ่นอุบเสียดายเรือนแพเหือดหายไปในสายน้ำน่านมาเนิ่นนาน แต่ว่ายากยิ่งที่จะเรียกร้องกลับคืนมาในเร็ววัน

แม้ว่านายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก คนปัจจุบันจะออกมาเปิดใจกว้างรับฟัง ผู้ที่ต้องการให้เรือนแพกลับมารักษาเอกลักษณ์ดังเดิม ด้วยการสร้างแพขึ้นมาใหม่ในลำน้ำน่าน ภายใต้เงื่อนไขรายละเอียดปลีกย่อยหลายด้านของกฎ ระเบียบ ระบุไว้ว่า
1.กำหนดพื้นที่จอดเรือนแพ ฝั่งทิศตะวันออก ห้ามจอด(เป็นไปตามคำสั่งจังหวัดพิษณุโลก ลงวันที่ 6 มีนาคม 2549) ตั้งแต่หน้าวัดโพธิญาณ จนหลังวัดท่ามะปราง ส่วนฝั่งทิศตะวันตก ห้ามจอดตั้งแต่ค่ายสมเด็จพระนเรศวร จึงสะพานเอกาทศรถ
2.การขออนุญาตจอดแพ ต้องขออนุญาตจากเจ้าของ “หน้าท่า”ให้ความยินยบอม กรณีที่ดินเอกชนเจ้าของให้ความยินยอม กรณีที่ดินสาธารณะหน่วยงานพื้นที่ให้ความยินยอม เช่น ทางสาธารณะต้องได้รับความยินยอมจากเทศบาล
3.เมื่อได้รับหนังสือยินยอมแล้ว ยื่นขอรับใบสำคัญรับรองอนุมัติแบบแพ จากกรมเจ้าท่าผ่านสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพิษณุโลก โดยมีเอกสารหลักฐาน (ข้อ 12 ประกาศกรมเจ้าท่า ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2559) ดังนี้
3.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ขอ
3.2 แบบแปลนแพ พร้อมวิศวกรลงนามรับรองพร้อมใบประกอบวิชาชีพ กรณีแพที่มีความสนูงเกิน 5 เมตร ให้มีวิศวกรระดับสามัญวิศวกรรับรอง
4.ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ยื่นขอหนังสือรับรอง (หนังสือมีอายุ 1 ปี)

แม้ว่าคนใหม่อาจไม่ใช่วิถีชีวิตชาวแพอย่างแท้จริง คนที่เข้ามาสร้างเป็นเพียงจำลองเรือนแพราวกับเอาเงินมาทิ้งน้ำ อีกทั้งด้านสาธารณูปโภค และอื่นๆ ตลอดจนการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ต้องมีผู้ดูแล พอรับฟังแล้วยากเย็นยิ่ง ในอันที่จะคิดส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีความสัมพันธ์กับ “คำขวัญ” จังหวัดพิษณุโลก

อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นการสะท้อนจิตใจอันคับแคบของผู้มีอำนาจในอดีตที่ไม่ได้มองอนาคต จะมีคุณค่าสูงยิ่ง จึงรวบรัดรื้ออย่างรวดเร็ว บางรายที่ไม่ยอมรื้อย้ายต้องถอยร่นอย่างไร้กระบวนท่า ถูกจำกัดพื้นที่ออกไปจัดวางเลยวัดท่ามะปราง และชาวแพจริงๆหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันไม่เกิน 25 หลัง

หากการย้ายเรือนแพย้อนกลับไป ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา นับว่าเป็นบทเรียนที่อาจกล่าวได้ว่า “โหดเหี้ยม”เพราะสร้างความเจ็บปวดขมขื่นให้กับชาวเรือนแพ นับ 100 หลัง พ่อ แม่ ลูก หอบหิ้วโยกย้ายขึ้นฝั่งครั้งนั้น ณ บ้านโคกช้าง ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก บางคนตลอดชีวิตดำรงชีพด้วยการหาปลาในลำน้ำน่าน

จากนี้ไปต้องหาเงินมาผ่อนชำระรายเดือนกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ บริเวณริมคลองโคกช้าง ที่ดินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พิษณุโลก ในที่สุดเหลือกำลังรับต้องยอมขายทิ้งเปลี่ยนมือไปเป็นของผู้ที่มีฐานะ ปัจจุบันชาวเรือนแพดั้งเดิมที่ยังพักอาศัยอยู่ไม่เกิน 10 ราย แม้ อบจ.พิษณุโลก จะปักป้ายห้ามขาย ยกเว้นทายาทโดยธรรม

“คำขวัญ”ที่ทุกจังหวัดในประเทศนี้เขามีกันหมด แต่ใครจะกล้า “โป้ปด” ผู้คนกันต่อไปว่า “สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ” จึงถูกมองจากหลายมุมว่าทุกภาคส่วนต้องกลับมาใคร่ครวญและทบทวนเกี่ยวกับเรือนแพ โดยเฉพาะองค์กรด้านการท่องเที่ยวที่ต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเรือนแพ หรือจะลบรอยอดีต คือ คำขวัญเก่าทิ้งไปแล้วเปลี่ยนกันใหม่ นานวันคงไม่ปล่อยให้ลื่นไหลล่องลอยไปกับสายลม

หากกล่าวถึงความสกปรกสิ่งปฏิกูลของชาวเรือนแพ ที่เคยหยิบยกกันมากล่าวอ้างจนเป็นเหตุให้รื้อย้ายในขณะนั้น แต่ขณะนี้สิ่งโสโครกจากท่อน้ำทิ้งในเขตเทศบาลนครที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่านกลางเมืองสองแคว 23 จุด ตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก ถ้าพิจารณาไตร่ตรอง ทั้ง 2 สิ่ง ใครจะเลวร้ายกว่ากัน โดยเฉพาะน้ำเสียที่ไหลลงท่อนำทิ้งของเทศบาลนครไม่ได้ผ่านการบำบัดแต่อย่างใด

โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงแรม ถูกควบคุมโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองตามหลักวิชาการ ก่อนปล่อยลงท่อน้ำทิ้งของเทศบาลนคร เหมือนกับสถานประกอบการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร อาคารพาณิชย์ บ้านเรือน วัด โรงเรียน โดยไม่ได้ผ่านสถานีบำบัดน้ำเสีย PUMP STATION (PS) และระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่หนองอีเฒ่า ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ทั้งหมดก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2541 รวมมูลค่าก่อสร้างและซ่อม 510,000,000 บาท แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เพราะปัจจุบันมิเตอร์ไฟฟ้ามันฟ้องตัวเลขขึ้นเพียง 116 หน่วย

สำหรับท่อน้ำทิ้งลงแม่น้ำน่าน ในเขตเทศบาลนครฝั่งตะวันออก 16 จุด แม้ว่าจะมีสถานีบำบัดน้ำเสีย 6 สถานี (PS) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ใช้รางรถไฟที่วิ่งผ่านตัวเมืองเป็นตัวแบ่ง PS 3 จุด จากวัดใหญ่ลงมาทิศใต้ของตัวเมืองรวมท่อสถานีบำบัดทั้ง 3 จุด ยกเว้นฝั่งตะวันตกไม่มีสถานีบำบัดน้ำเสียรองรับ ซึ่งมีท่อน้ำทิ้งลงแม่น้ำน่าน 7 จุด

นายถาวร เพ็ชรบัว ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก กล่าวว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนคร ตั้งแต่วัดโพธิญาณจนถึงวัดสว่างอารมณ์ ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก มีคุณภาพเกินค่ามาตรฐาน คือมีคุณภาพต่ำลง หรือย่ำแย่ลงนั่นเอง แต่มีความโชคดีที่น้ำน่านไหลตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเป็นข่าวทางสื่อมวลชนนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ไม่ได้นิ่งนอนใจมอบหมายให้นายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 6 สถานี และระบบบ่อบำบัดหนองอีเฒ่า และให้รายงานภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 มีผู้กล่าวกันว่านายชัชพงศ์ เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน”ไม้บรรทัดเรียกพี่ จึงต้องติดตามกันต่อไป

ทางด้านนายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่สามารถเดินระบบได้ เนื่องจากเสียในจุด PS 5 รั่ว แตก ซึม มวลน้ำจึงไม่เข้าโรงระบบบ่อบำบัดหนองอีเฒ่า และขอยืนว่าบ่อบำบัดยังใช้ได้ หากย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ไม่มีหน่วยงานใดผิด เพียงเทคโนโลยีเก่า ท่อรวมน้ำ PS 1-3 ระบบล้าสมัย ไม่สมบูรณ์ องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.)สำรวจแล้วจะต้องลงทุนซ่อมอีก 70 ล้านบาท แต่เทศบาลนครมองว่าไม่คุ้มน่าจะมีระบบใหม่ ควรนำเครื่องจักรใหม่ขนาด 10 เมตร คูณ 20 เมตร มาวางแทน ใช้ระบบแบคทีเรียกำจัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำน่าน

“จุด PS 1 ลงทุนระบบใหม่ 28 ล้านบาท จุด PS 2 ลงทุน 2 เครื่อง 40 ล้านบาท ส่วนจุด PS 3 ลงทุนเพียงเครื่องเดียว ส่วน PS 4 จะเหลือไปบำบัดที่หนองอีเฒ่าเพียง 4,000 คิว ถ้าเปลี่ยนหม้อแปลงเสร็จคงทดสอบระบบได้ ฉะนั้นเลือกลงทุนระบบใหม่ดีกว่า ถ้ามาเสียค่าซ่อมของเก่า 70 ล้านบาท เทศบาลนครไม่มีงบประมาณ แต่ได้ทำเรื่องไปกระทรวงมหาดไทย หรือ องค์การจัดการน้ำเสีย ก็เห็นด้วยของบประมาณไปแล้ว แต่เชื่อว่างบ 70 ล้านบาท คงไม่ได้มารวดเร็วต้องใช้เวลา” นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าว

เช้าวันนี้ม่านเมฆบดบังท้องฟ้ามืดครึ้มอึมครึม เสียงวิพากษ์เรื่องราวเรือนแพแผ่วเบาไร้เรี่ยวแรง อีกทั้งระบบบ่อบำบัดยังไม่ชัดเจน อาจเป็นเพียงการรอคอยระคนความฝันเท่านั้นเอง

กร บ้านกร่าง /รายงาน