แม่น้ำน่านสิ้นเสน่ห์

             มนต์ขลังเมืองสองแคว

             คำขวัญที่ไร้เรือนแพ

 

เรือนแพสุขจริงอิงกระแสธารา

หริ่งระงมลมพริ้วมา

กล่อมพฤกษาดังว่าดนตรี

หลับอยู่ในความรัก

และความชื่นชั่ววันและคืนเช่นนี้

กลิ่นดอกไม้รัญจวนยังอบอวลยวนยี

สุดที่จะพรรณนา

เรือนแพล่องลอยคอยความรักนานมา

คอยน้ำค้างกรุณาหยาดมาจากดาราแหล่งสวรรค์

วิมานน้อย  ลอยริมฝั่ง

ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน  หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน

ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์  โอ้สวรรค์ในเรือนแพ….

เรือนแพขับร้องโดยชรินทร์ นันทนาครบทเพลงที่มีความไพเราะเป็นอมตะนิรันดร์กาล บ่งบอกเล่าขานชีวิตความเป็นอยู่ของวิมานลอยน้ำเย็นยะเยือกยิ่ง  ซึ่งเป็นผลงานจินตนาการอันล้ำลึกของครูเพลงชาลี อินทรวิจิตรรจนาไว้ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ และต่อมาบุคคลทั้งสองได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ

คำขวัญจังหวัดพิษณุโลกพระพุทธชินราชงามเลิศ  ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร  สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ  หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก  ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตาผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรีย์ ไวยกุฬาอดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย   มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามพิษณุโลก ที่บรรจงแต่งไว้อย่างละเมียดสะท้อนเรื่องราวที่ทรงคุณค่าทางใจจิตและอัตลักษณ์เมืองสองแคว ภาษาสละสลวย งดงามยิ่ง จึงชนะเลิศการประกวดคำขวัญในปี 2530

แม้ว่าเรือนแพจะถูกทางราชการโยกย้ายไปจากสถานที่เดิม และขึ้นฝั่งไปอย่างกระเซอะกระเซิงยังบ้านโคกช้าง ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ส่วนที่เหลือไม่กี่หลังคาเรือนถูกลำเลียงไปซุกซ่อนหลบไว้ในหลืบลิบลับ และมีแพอื่นๆขึ้นมาทดแทนที่อาจจะสวมบ้านเลขที่ ซึ่งทางเทศบาลเมืองเคยออกไว้ให้กับชุมชนชาวแพ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเทศบาลนครในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมหลายระดับออกมาวิพากษ์และแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง วิถีชีวิตชาวเรือนแพชุมชนโบราณลอยน้ำซึ่งคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามศึกษาวิจัย พบว่ามีอายุยืนยาวมากว่า 160 ปี มีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอดีตนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้ความชื่นชอบวิถีชีวิตและทัศนียภาพภายในลำน้ำน่านเป็นอย่างมาก

...ดร.ทวี บูรณเขตต์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก บุคคลดีเด่นของชาติ ..2533 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ กล่าวว่าตนเห็นเรือนแพมาตั้งแต่เป็นเด็กมองดูน่าประทับใจแต่ถูกโยกย้ายไม่ให้มีเรือนแพอยู่ในแม่น้ำน่านไม่มีที่ไหนเขามีกันเหลืออยู่ส่วนหนึ่งของเราเคยมียาวเหยียดตั้งแต่ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนถึงวัดท่ามะปราง และเกือบถึงวัดจันทร์หาดูที่ไหนไม่มีอีกแล้ว ภาพติดตาประทับใจจนถึงทุกวันนี้ มีอายุ 87 ปี เสียดายมากเป็นสิ่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกที่ขาดหายไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรีย์  ไวยกุฬา อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม พิษณุโลกเจ้าของคำขวัญจังหวัดพิษณุโลก ชนะเลิศการประกวดในปี  2530 กล่าวว่าจังหวัดพิษณุโลก นอกเหนือจากหลวงพ่อพระพุทธชินราช และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ แม่น้ำน่านที่เป็นจุดเด่นที่สุดมีภาพวิถีชีวิตชาวเรือนแพ อีกทั้งตลิ่งทั้งสองฝั่งปลูกผักสวนครัวไม้ประดับซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม

แต่พอจังหวัดพิษณุโลกมีแนวคิดที่จะย้ายออกไปจบเลย วิถีชีวิตชาวเรือนแพเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคนในจังหวัดพิษณุโลก ชอบมายืนบนสะพานนเรศวรแล้วทอดสายตา มองเด็กเรือนแพกระโดดน้ำคนในเรือนแพ นั่งตกปลา หรือพายเรือข้ามฝั่งยามเย็นเป็นภาพที่งดงามมากผศ.สุรีย์กล่าว

ผศ.สุรีย์ กล่าวด้วยว่า มีความรู้สึกตลอดเวลา และใจหายอยู่ทัศนียภาพที่เคยสวยงามมาก เพราะมีหลายแห่งอยากจะทำให้เหมือนกับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แม้กระทั่งเมืองจีนเค้าจ้างให้คนมาอยู่และดูแลอย่างดี แต่ของเรากลับบังคับให้เอาขึ้นไปอยู่บนบก

ก่อนที่จะย้ายเรือนแพทางจังหวัดพิษณุโลก เคยได้ติดต่อมาให้ปรับปรุงแก้ไขคำขวัญสองฝั่งน่านล้วนเรือนแพตอบไปว่าไปเรื่องของคณะกรรมการที่จะพิจารณาดำเนินการ เพราะคำขวัญได้ผ่านความคิดเห็นเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาให้รางวัลเรียบร้อยแล้วผศ.สุรีย์กล่าว

ภายหลังจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศนมัสการหลวงพ่อพระพุทธชินราชเสร็จแล้ว จะเดินเลียบตลิ่งหรือเดินขึ้นบนสะพานนเรศวรข้ามแม่น้ำน่าน เพื่อทอดสายตาอย่างน่าอภิรมย์กับสายน้ำน่านที่ไหลผ่านกลางเมือง ซึ่งทั้งสองฝั่งเรียงรายไปด้วยเรือนแพจนสุดสายน้ำ

ภาพแห่งความทรงจำเริ่มลางเลือนวิมานลอยน้ำกำลังไหลเลื่อนลัดเลาะริมตลิ่งไกลออกไป ดูเหมือนว่าทำท่าจะลาลับและเหลือไว้เพียงตำนาน ดุจดั่งสายน้ำน่านที่ไม่มีวันไหลกลับ

กร  บ้านกร่าง  รายงาน