เชียงราย คนริมน้ำกกยื่น 7 ข้อ เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขน้ำกกปนเปื้อน

เวลา 09.00 น.วันที่ 22 เม.ย.2568 ที่ ห้องประชุมสายน้ำกก ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม CCF เชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำ กก อิง โขง นำโดย นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยมี นักวิชาการและตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม ในการนำเสนอถึงความเดือดร้อน และแนวทางในการแก้ไขปัญหา

โดยแม่น้ำกก ได้รับผลกระทบจนมีสารปนเปื้อนมาจากการทำเหมืองแร่ในเขตปกครองของชนกลุ่มน้อย ว้า ในประเทศเมียนมา โดยมีการใช้สารเคมีในการสกัดแร่ต่างๆ ทำให้สารแคมีไหลลงมาในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย จนกระทั่งมีการตรวจพบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตราฐาน จนทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การประมง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแพริมแม่น้ำกกหลายรายทั้งต้นน้ำที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และแพริมแม่น้ำกก ในพื้นที่ ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนหลายราย

นางจิรภัทร์ กันธิยาใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลก็คือแม่น้ำของเราเปลี่ยนไป ปีนี้เศรษฐกิจเรายับเยินเลย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาลานที่อยู่ริมแม่น้ำกกที่เคยใช้เล่นน้ำหญ้าขึ้นสูงถึงเข้าไม่มีใครกล้าลงไปเล่นน้ำ ช่วงวันที่ 14 -15 เม.ย. ช่วงเป็นฤดูแล้งแต่กลับมีน้ำ และดินโคลนไหลมา ทำให้แพที่สร้างอยู่ริมแมน้ำได้รับความเสียหาย จะหาจ้างให้ใครลงไปเก็บก็ไม่มีใครกล้าลงไป ที่เป็นห่วงขณะนี้ก็คือคนที่หาปลา ไม่สามารถลงน้ำได้น่าหดหู่ใจมาก เมื่อ 2-3 ปี ก่อนยังสามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้ แต่ตอนนี้แม้แต่ลงน้ำยังไม่กล้า บ้านเรือนหลายหลังที่อยู่ติดแม่น้ำกก บางรายยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักช่าวคราว เพราะบ้านเสียหายจากน้ำท่วมครั้งก่อนยังไม่ได้รับการซ่อมแซม

ชาวบ้านบ้านฟาร์มสหกิจ ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตั้งแต่บ้านถูกแม่น้ำกกท่วมเมื่อฤดูฝนปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังถูกน้ำท่วมอยู่เพราะยังมีคันกั้นน้ำที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมอยู่ในพื้นที่ของเอกชน น้ำกกยังคงไหลเข้ามาที่บ้าน ตอนนี้ยังมีสารปนเปื้อนเข้ามาอีก ใช้ชีวิตลำบากมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือ ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแต่พอกลับไปก็ไม่ได้มีการแก้ไขอะไร ปัจจุบันน้ำยังท่วมบ้านอยู่เหมือนเดิม

นาย สุขใจ ยานะ อายุ 72 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเชียงแสนน้อย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า น้ำกกที่บ้านเชียงแสนน้อยเป็นปากแม่น้ำที่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในปีนี้ถือว่าเป็นศึกหนัก ที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่คาดเดาไม่ได้ บางครั้งก็สูง บางครั้งก็ลงอย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับการปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งถือว่าได้รับความเดือดร้อน ปีนี้ที่ผ่านมาแม่น้ำกกยังมีการทำแพขายของทำให้ชาวบ้านมีเงินหมุนเวียนแต่ในปีนี้ไม่มีคนมานั่งชาวเชียงแสนน้อยทั้งคนหาปลาต้องรับศึกหนักทั้งแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กับ แม่น้ำกกที่มีสารปนเปื้อน

ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย กล่าวว่า สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ที่มีการปนเปื้อนของสารหนู ซึ่งเกิดจากการทำเหมืองทองของประเทศเมียนมา ทางรัฐบาลไทยต้องหาทางออก

โดยการคุยกับผู้นำระดับประเทศคือ จีน พม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ซึ่งเหมืองทองได้ประกอบกิจการอยู่ในพื้นที่เขตปกครองของว้า เรื่องปัญหาสารพิษเป็นปัญหาใหม่ และมีความซับซ้อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ที่ก่อมลพิษไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีข้อมูลของแหล่งกำเนิดสารโลหะหนักที่อยู่นอกเขตแดนประเทศไทย เพราะรัฐบาลขาดผู้มีอำนาดตัดสินใจทางนโยบายที่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าว และรัฐบาลยังใช้กลไกเดิมในการแก้ไขปัญหา เช่น สทนช. และ MRC อีกทั้งรัฐบาลยังขาดยุทธศาสตร์และแผนการแก้ไขปัญหาสาเหตุของมลพิษข้ามแดน ข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ คือการขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารพิษจากแหล่งกำเนิดต้นแม่น้ำกก กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะได้รับข้อมูลล่าช้า และไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับสารโลหะหนักส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากสารโลหะหนักสะสมในน้ำและห่วงโซ่อาหาร จากนั้นได้เสนอมาตราการและนโยบายที่รัฐบาลควรปฏิบัติคือ จัดตั้งสถาบันตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำโขงเหนือ ประจำจังหวัดเชียงราย จัดตั้งคณะทำงานระดับประเทศและระดับจังหวัดที่มีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาระยะยาว สร้างความโปร่งใสในการสื่อสารข้อมูลกับประชาชน

ด้าน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ได้เสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเร่งนำเดินการตามข้อเรียกร้อง จำนวน 7 ข้อ คือ

  1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ภายใน 30 วัน
  2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
  3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย

4 .การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจังหวัดเชียงราย

  1. การขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน  โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ

6.เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเชียนบวกประเทศ

  1. การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม

จากนั้นกลุ่มจึงร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

โดย นายชิตวัน กล่าวว่า ปัจจุบันตนได้นำเรื่องปัญหาดังกล่าวเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฏร พร้อมนำเรื่องเข้าสอบถามรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไง ทั้งในเรื่องของปัญหาน้ำท่วม และปัญหาของหมอกควัน พร้อมกล่าวว่าพรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำงานช่วยเหลือประชาชน จากนั้นได้กล่าวว่าประชาชนต้องได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นระบบทั้งในเรื่องของเรื่องเหตุแผ่นดินไหว หรือเรื่องอุทกภัย และสารปนเปื้อนต่างๆทางน้ำหรือดิน

error: Content is protected !!