ผู้ว่าฯพิษณุโลกเต้นท่อน้ำทิ้งกลางเมือง 8 จุด ออกคำสั่งหน่วยงานสิ่งแวดล้อม สสจ.เอื้อมไม่ถึงโรงแรม

วันที่ 17 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้มีหนังสือออกคำสั่งถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก กรณีสื่อนำเสนอท่อน้ำทิ้งที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน  2 ฝั่งกลางเมืองพิษณุโลก โดยมอบหมายให้นายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ควบคุมดูแลบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ท่อน้ำทิ้งที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่านกลางเมืองพิษณุโลก 8 จุด ทั้งสองฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ด้านฝั่งทิศตะวันออก ประกอบด้วย บริเวณสามแยกประตูมอญ,ใต้สะพานนรเศวร, สวนริมน่านเฉลิมพระเกียรติหน้าที่ทำการสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) พิษณุโลกโลก, หัวสะพานเอกาทศรถ,ใกล้วัดท่ามะปราง  บริเวณชาวเรือนแพพักอาศัย ส่วนฝั่งทิศตะวันตก บริเวณใกล้แฟลตตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก,บริเวณใกล้วัดจันทร์ตะวันตก และหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก

 

ด้านนายสมชาย เพชรอำไพ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ในระบบจะมีการเก็บน้ำสุ่มตรวจทุกเดือนมีมาตรฐานน้ำทิ้งอยู่ โรงพยาบาลมีกฎหมายบังคับต้องรายงานตามแบบสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3  พิษณุโลก ต้องนำผลรับรองส่งชี้แจงกรมควบคุมมลพิษ

ส่วนโรงแรมมีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่ และกฎหมายอื่นสาธารณสุขไม่ได้ควบคุมเรื่องน้ำเสีย มีมาตรฐานของเราอยู่น้ำในโรงพยาบาลปล่อยออกมาภายนอกไม่ได้ต้องมีระบบนายสมชายกล่าว

นายณฤทธิ์ กันทวรรณ์ นิติกร ชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า แม่น้ำลำคลอง การกำกับดูแลเป็นอำนาจของท้องถิ่น ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพนักงานพื้นที่ ถ้าพบเห็นมีผู้นำสิ่งโสโครก ปฏิกูล ลงในลำรางสาธารณะ ต้องออกคำสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปปรับปรุงแก้ไข ท้องถิ่นจะเอาความเห็นไปทำคำสั่ง เช่น ห้องอาหารเศษไขมันมากไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ เพราะเป็นผู้ดูแลสุขภาพผู้บริโภค

นายณฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลมีพารามิเตอร์ทดสอบน้ำทิ้ง และมีมาตรฐาน11 ด้าน คือ1.ความเป็นกรดด่าง 2.สารที่ละลายได้ทั้งหมด 3.สารแขวนลอย 4.ตะกอนหนัก 5.บีโอดี 6.น้ำมันและไขมัน 7.ปริมาณไนโตรเจน 8.ซัลไฟด์ 9.COD 10.โคลิฟอร์มแบคทีเรีย 11.ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย