เรือนแพพิษณุโลก ชุมชนโบราณลอยน้ำ อายุกว่า 160 ปี  พบผลงานวิจัย อจ.มรภ. ทำที่พักโฮมสเตย์หวังดึงนักท่องเที่ยวทุกมุมโลก

วันที่15 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการย้ายชาวเรือนแพในล้ำน้ำน่านที่ไหลผ่านกลางพิษณุโลกขึ้นบนบกนับตั้งแต่ปี2541 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณบ้านโคกช้าง หมู่ที่10 ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก ส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมย้ายเรือนแพจะถูกเทศบาลนครเคลื่อนย้ายไปไว้ท้ายน้ำด้านทิศใต้ เลยวัดท่ามะปราง แต่เหลือเพียงไม่กี่สิบหลัง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 คณาจารย์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม พิษณุโลก ได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อวิจัย ความเป็นไปได้ในการจัดการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ กรณีศึกษาเรือนแพพิษณุโลก” โดยมีชื่อผู้วิจัย นางสาวกุลแก้ว คล้ายแก้ว นางลัสดา ยาวิละ และนางอรนุช สืบบุญ

บทคัดย่อมีเนื้อหาระบุว่า

 การศึกษาวิจัยเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์กรณีศึกษาเรือนแพพิษณุโลก เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา 1) เพื่อศึกษาศักยภาพของเรือนแพในการเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว 2) เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดการที่พักแบบโฮมสเตย์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนเรือนแพลำน้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และ3) เพื่อศึกษาความต้องการเข้าพักในเรือนแพลำน้ำน่านของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากผลการศึกษาสรุปได้ 3 ประเด็นหลักๆดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก ในด้านศักยภาพของเรือนแพจากการศึกษาวิจัย พบว่าศักยภาพของชุมชนชาวแพลำน้ำน่าน ในด้านโครงสร้างของบ้านเรือนแพของชุมชนชาวแพลำน้ำน่าน ยังไม่มีศักยภาพในการเป็นเรือนแพที่พัก สำหรับนักท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากเก่าและทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ประกอบกับชุมชนชาวแพลำน้ำน่านจังหวัดพิษณุโลก เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดชุมชนเมือง แต่มีฐานะยากจนไม่มีอาชีพที่มั่นคง จึงไม่มีรายได้ที่เหลือจากการยังชีพนำมาปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเองได้และชุมชนชาวแพต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยปรับปรุงเรือนแพของตนให้ดีขึ้น

แต่ในด้านเอกลักษณ์ชุมชนชาวแพลำน้ำน่าน เป็นชุมชนที่มีศักยภาพในด้านนี้เป็นอย่างมาก กล่าวคือ เป็นชุมชนโบราณลอยน้ำที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในลำน้ำน่านเป็นเวลาช้านานตั้งถิ่นฐานมาเกือบ160 ปี จึงเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก ได้เข้ามาสัมผัสกับสิ่งที่ได้รับตกทอดมาจากคนในอดีตสู่คน ในปัจจุบันจึงกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งประกอบกับบ้านเรือนแพเป็นภาพลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก เมื่อนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดพิษณุโลก มีความต้องการเห็นภาพบ้านเรือนแพที่จอดเรียงรายอยู่ตลอดของลำน้ำน่าน

นอกจากนี้ชุมชนมีความพร้อมในเรื่องการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว อาทิ การสาธิตการเปลี่ยนลูกบวบแพการจับปลาการสร้างเรือนแพเป็นต้นชุมชนต้องการมีสินค้าของที่ระลึกขายแก่นักท่องเที่ยวชุมชน มีความต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการที่พักเรือนแพโฮมสเตย์ ชุมชนต้องการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยว โดยชุมชนชาวแพเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ประเด็นที่สอง ในด้านความเป็นไปได้ในการจัดการที่พักโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวแพลำน้ำน่านในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้อันเนื่องมาจากชุมชนชาวแพมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และชุมชนชาวแพมีความต้องการที่จะดัดแปลงบ้านเรือนแพที่พักของตนเองให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย เพราะชุมชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนในการผลักดันทำให้เกิดที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ชุมชนชาวแพมีวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวยังเล็งเห็นประโยชน์จากการท่องเที่ยว ที่จะนำมาซึ่งรายได้เสริมต่อตนเองและครอบครัวและสมาชิกชุมชนชาวแพ บางกลุ่มยังต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อชมวิถีชีวิตชาวแพ ซึ่งจะทำให้เกิดการอนุรักษ์บ้านเรือนแพอนุรักษ์ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวแพ ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม ในด้านความต้องการเข้าพักจะเห็นได้จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศมีความต้องการเข้าพักในเรือนแพโฮมสเตย์ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยมีความประสงค์ที่จะเข้าพักในโฮมสเตย์เรือนแพคิดเป็นร้อยละ91.9 ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ82.4

ประการสุดท้ายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  มีความคิดเห็นว่าสถานที่จอด เรือนแพโฮมสเตย์ที่เหมาะสมคือตั้งแต่บริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(วัดใหญ่)เรื่อยไปจนกระทั่งถึงบริเวณสะพานสุพรรณกัลยา