เกษตรอำเภอแม่สอด เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหนอนกระทู้ fall armyworm ระบาด จังหวัดตากเป็นพื้นที่เสี่ยง หวั่นปีนี้ระบาดรุนแรง
นายสุวรรณ ตาคำ เกษตรอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ย้ำเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวัง การระบาดของ หนอนกระทู้ fall armyworm (ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม) ในข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดตาก ซึ่งมีพื้นที่ปลูก มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ พบการระบาดแล้ว อยู่ในขั้นรุนแรง และเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง ซึ่งที่ผ่านมา นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ เกษตรจังหวัดตากและเจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตรอำเภอแม่สอด ตลอดจนเจ้าหน้าที่กองอารักษ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
โดยสถานการณ์ช่วงฤดูกาลผลิตข้าวโพด ปี 2562/2563 หนอนกระทู้ fall armyworm(ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม) ที่ระบาดหนัก ในพื้นที่อำเภอแม่สอด และจังหวัดตาก ในข้าวโพดหลังนา (ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา) สำหรับอำเภอแม่สอด มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 11,000 ไร่ พบการระบาดขั้นรุนแรง เสียหาย ประมาณ 8 พันไร่ ซึ่งจากการใช้ชีววิธีและสารเคมีสลับกันไป ก็สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตากและเกษตรอำเภอ ได้มีการเฝ้าระวัง หวั่นว่าจะพบการระบาดซ้ำ และจะก่อให้เกิดการระบาดรุนแรงมากกว่าช่วงฤดูแล้ง
ส่วนปีฤดูกาลผลิต 2562/2563 ในช่วงฤดูฝน คาดการณ์ว่าพื้นที่จังหวัดตาก จะมีพื้นที่การปลูกข้าวโพด จำนวน 4.5 แสนไร่- 5 แสนไร่ เฉพาะพื้นที่อำเภอแม่สอด ประมาณ 17,000 แสนไร่ จึงได้มีการเฝ้าระวังประชุมเกษตรกร ป้องกันด้วยการเตรียมดิน โดยแนะนำให้ไถตักดินพลิกไข่หนอนให้ตากแดด เพื่อกำจัดไข่หนอนได้ในระดับหนึ่ง ระหว่างการปลูก อายุข้าวโพด 5-15 วัน เกษตรกรจะต้องสำรวจ ใบอ่อนข้าวโพด หากพบจะสามารถทำลายด้วยการใช้สารเคมี หรืออีกวิธีคือใช้ แมลงหางหนีบ เพื่อกัดกินหนอนตัวอ่อน ซึ่งเกษตรกรจะต้องหมั่นสำรวจข้าวโพดในแปลงอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับ หนอนกระทู้ fall armyworm (ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม) เป็นแมลงศัตรูพืชที่สามารถบินได้ไกล โดยตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตร ต่อคืน ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมากจำนวน 30-40 วัน ต่อรุ่น และมีพืชอาหารจำนวนมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งนอกจากข้าวโพดแล้วยังมีพืชอาศัยอื่นที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด
ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ fall armyworm (ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม) การทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73%
สำหรับการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm (ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม) สามารถกำจัดได้โดยใช้สารชีวภัณฑ์ตามคำแนะนำของ FAO เช่น ใช้แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา (Trichogramma) แตนเบียนไข่เทเลโนมัส (Telenomus) แตนเบียนคีโนลัส (Chelonus) แมลงหางหนีบ เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) แบคทีเรียบาซิลลัสไอซา (Bt aizawai) หรือบาซิลลัสทูริงจิเอนซิส (Bt thuringiensis)
ภาพ-ข่าว/ไพฑูรย์ สุขแว่น