ปิดตำนาน “เขื่อนแก่งเสือเต้น” เตรียมผุดอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง

ปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้นรองอธิบดีกรมชลประทานจับมือแกนนำและชาวบ้านแก่งเสือเต้นผุดโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าลดผลกระทบที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินพร้อมชูสะเอียบโมเดลพัฒนาลุ่มน้ำสาขาต่างๆทั่วประเทศ


เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 29 พ.ค.52 ที่โรงเรียนบ้านสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทานพบชาวบ้านสะเอียบลุยแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยลุ่มน้ำยม ชูสะเอียบโมเดล ร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหา พร้อมเร่งศึกษา EIA 2 อ่างเก็บน้ำจังหวัดแพร่ หนุนพื้นที่ชลประทานกว่า 10,000 ไร่ เพิ่มความจุน้ำกว่า 24 ล้าน ลูกบาศก์เมตร


นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ในจังหวัดแพร่ ในส่วนของพื้นที่ตอนล่าง ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยม เพื่อกักน้ำในลำน้ำยมไว้ใช้ในช่วงฤดู รวมถึงการขยายผลบางระกำโมเดล สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกระจายไปทั้งลุ่มน้ำ


นายทองเปลว อธิบายเพิ่มเติมว่า 2 โครงการที่กำลังศึกษาในจังหวัดแพร่นั้นมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ในปี 2559 กรมชลประทานดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่เป็นความต้องการของประชาชนที่ต้องการอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก


ทั้งนี้ในอดีตการสร้างเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทางตอนบนมีความเห็นที่ขัดแย้งกันมาตลอดระหว่างหน่วยงานราชการ กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวตำบลสะเอียบ ต่อมาได้มีการรับฟังความเห็น โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นคนกลาง ทำให้เกิดการหาแนวทางออกร่วมกัน และกลายเป็นคำว่า “สะเอียบโมเดล” ขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าในลำดับแรกการสร้างเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทางตอนบน ควรดำเนินการตามลุ่มน้ำสาขา

ซึ่งตำบลสะเอียบได้เสนอให้ทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลสะเอียบจำนวน 4 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง และอ่างเก็บน้ำแม่เต้นตอนบน นำไปสู่การจัดทำการศึกษาอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 โครงการดังกล่าว


“ทั้ง 2 โครงการหลักประชาชนชาวสะเอียบเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญและเสนอให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นมิติใหม่ของกรมชลประทานที่ปรับการทำงานจนสามารถช่วยกันหาทางออกร่วมกันกับคู่ขัดแย้งทางความคิดในอดีตได้” นายทองเปลว กล่าว


โดยสำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 จะมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านดอนแก้ว ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมแบ่งส่วน ความจุเก็บกัก 19.67 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 104.39 ตร.กม. และมีพื้นที่ชลประทานได้ 7,500 ไร่ ทั้งนี้ในบริเวณดังกล่าว ทั้งอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง และอ่างเก็บน้ำแม่เต้นตอนบน คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่ 23.95 ล้าน ลบ.ม./ปี

 

ในขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเป้าจะมีตำแหน่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 บ้านนาหลวง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความจุเก็บกัก 2.35 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 11.3 ตร.กม. และมีพื้นที่ชลประทานได้ 2,280 ไร่ ทั้งนี้ในบริเวณดังกล่าวมีปริมาณน้ำค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.89 ล้าน ลบ.
ในส่วนแผนรับมือน้ำหลากสำหรับฤดูฝนในปี 2562 นั้น นายทองเปลว กล่าวว่าได้ปรับเกณฑ์ปฏิบัติการ- อ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 437 แห่งทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

อ่างเก็บน้ำดังกล่าวจะสามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนรวมกันได้มากกว่า 35,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ-ขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำลำพระ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 149 แห่ง ทั่วประเทศ ที่มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 30 หากมีฝนตกลงมาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้จะรองรับปริมาณน้ำรวมกันได้มากพอควรเช่นกัน

นายเฉลิมเกียรติ วิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน กล่าวว่า วันนี้ได้เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เราได้มีโอกาสมาในเรื่องของการศึกษาเนื่องจากเราใช้สะเอียบโมเดลก็คือว่าที่ผ่านมานี่เราห่างเหินกระบวนการมีส่วนร่วมแต่วันนี้จากการที่พี่น้องชาวสะเอียบได้ขับเคลื่อนทำให้ทุกภาคส่วนเสียงส่วนน้อยส่วนใหญ่จะต้องพูดคุยกันและรับฟังในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพราะว่าทุกพื้นที่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกันพี่น้องชาวสะเอียบก็มีพื้นที่ทำการเกษตรทำไร่ทำสวนทำพื้นที่ทางการเกษตรมากมายชุมชนที่อยู่ที่นี่มีโรงเรียนมีวัดมีบ้านเรือนเกือบๆจะ 4 ร้อยครัวเรือนทุกคนต้องการน้ำวันนี้เรามาศึกษาโดยที่พี่น้องชาวสะเอียบให้ความเห็นชอบคืออ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 จะเป็นอ่างเก็บน้ำความจุเกือบ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเดิมมีน้ำไม่ถึงล้านลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 7 พัน 5 ร้อยไร่กระบวนการที่เราจะศึกษาเสร็จก็คือปลายปี 2562 นี้ปี 63 ออกแบบและหากทางรัฐบาลกระทรวงเกษตรเห็นด้วยปี 64 ก็เป็นไปได้ที่เราจะเริ่มโครงการก่อสร้างต่อไป

ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน