พิษณุโลก ชลประทานให้ชาวนางดปลูกข้าว ปี 67 ฝนแล้งรุนแรง เจอ”เอลนีโญ”

 


วันที่ 22 ก.ย. 66 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยในการงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ที่โรงแรมหรรษนันท์ จ.พิษณุโลก ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ คาดการณ์ว่า จะเกิดขึ้นปี 2567 – 2568 แห้งแล้งรุนแรง และฝนจะน้อยกว่าปีนี้แน่ กรมชลประทานเตรียมรับมือและวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว เหตุปี 2566 นี้ สถานกาณ์น่าห่วง ปริมาณน้ำฝนน้อย ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้ 30 %

ปริมาณฝนสะสม ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 21 ก.ย. 2566 ปริมาณฝนเฉลี่ยสะสม 717.17 มม. (9 อำเภอ) หากเทียบกับปี 65 มี 1,441.66 มม. เหลือเพียงอีก 1 เดือนเศษๆ ก็คาดว่า เพิ่มอีกไม่เกิน 100-200 มม. ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่า หรือ น้ำที่เเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีจำนวน 371 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39.51 % ถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆที่น้ำเกือบเต็มความจุ เช่นเดียวกับเขื่อนหลักทั่วภาคเหนือและกลาง คือ ปริมาณน้ำระดับ 50 % ของความจุเท่านั้น อาทิ เขื่อนภูมิพล เก็บน้ำได้ 47% เขื่อนสิริกิติ์ 54 % เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 16% อีกทั้งกรมชลฯ สามารถบริหารจัดการน้ำหรือปล่อยระบายเพียง 30 %เท่านั้น อีก 20 % ต้องเหลือไว้รักษาระดับน้ำ

สถานการณ์ปี 2567 คาดว่า จะประสบภัยแล้งรุนแรง กรมชลประทานจะไม่มีน้ำส่งให้เพาะปลูกข้าว จึงต้องประกาศให้ งดทำนาปีและนาปรัง ส่วนปี 2566 นี้ คงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมแล้ว ฝนจะลดลงอีก แม้ฝนตก น้ำยังไม่ไหลเข้าเขื่อน เนื่องจากสภาพผืนดินแห้งแล้งมา เรียกว่า ฝนตกก็ไม่ไหลลงเขื่อน

ต่อข้อซักถามว่า กรมชลประทานสั่งงดปลูกข้าวนาปีและนาปรัง จะให้ประชาชนทำอะไร นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.ชป.พล. กล่าวว่า วันนี้ ชป.ทำหน้าที่เตือนว่า จะเกิดขึ้นอะไรขึ้นข้างหน้า กรมชลประทานเอง เจอคำถามย้อนกลับบ่อยครั้งว่า ไม่ให้ทำนา แล้วจะทำอะไร จึงได้ทำเรื่องถึงรัฐบาลว่า ถ้าไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวแล้วชาวนาจะทำอะไร จะต้องมีมาตรการเยี่ยวยาหรือไม่ จะต้องส่งเสริมส่งเสริมอาชีพอะไร อาทิ ควรปลูกพืชอะไร และมีตลาดหรือไม่

ประเมินว่า ปลายตุลาคมนี้ ฝนหมดแล้ว คาดว่าต้นพฤศจิกายน กระทรวงเกษตรหรือรัฐบาลคงมีมาตรการออกมาบ้าง ชลประทานทำได้ ณ วันนี้ ประชาสัมพันธ์ว่า งดปลูกข้าวแต่คงห้ามไม่ได้ แต่ถ้าใคร ปลูกข้าวต้องหาแหล่งน้ำกันเอง